ความทั่วไป
แม้ว่าการบริการของรัฐด้านสาธารณสุข
จะขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะยี่สิบปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล
การป้องกันโรคติดต่อ และการส่งเสริมมสุขภาพอนามัย
แต่เมื่อพิจารณาถึงการกระจายบริการดังกล่าว
พบว่าราษฎรยังขาดแคลนบริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานอย่างมาก
เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่าอัตราการตายจากโรคที่ป้องกันได้
อัตราการตายของมารดา อัตราของเด็กขาดอาหาร มีอยู่ในอัตราที่สูง
และหากพิจารณาอัตราส่วนของแพทย์ต่อประชากร
จะเห็นสภาพปัญหาด้านสาธารณสุขได้ชัดเจนยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในขณะที่กรุงเทพมหานคร
มีแพทย์ ๑ คน ต่อประชากร ๙๙๘ คน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้
แพทย์ ๑ คน จะต้องบริการราษฎรถึง ๒๖,๑๒๘ คน ๑๒,๙๔๒ คน และ ๑๔,๖๔๓
คน ตามลำดับ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว
ย่อมจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพชีวิตของราษฎรในชนบทได้เป็นอย่างดี
พระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพบว่าราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย
โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐
ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมือ เครื่องใช้
ตลอดจนยารักษาโรค ออกทำการตรวจรักษาและพยาบาลราษฎรโดยไม่คิดมูลค่า
ในท้องถิ่นกันดารในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีหน่วยแพทย์ทางราชการเข้าไปถึง และครั้งนั้น ทรงพบอีกว่า
ราษฎรป่วยเป็นโรคฟันและโรคในช่องปากจำนวนมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน
ประกอบด้วยทันตแพทย์ ทันตนามัย รถยนต์ขนาดใหญ่ ๑ คัน มีเก้าอี้ทำฟัน
ตลอดจนเครื่องมือทำฟันครบชุด
ออกทำการตรวจและรักษาโรคฟันให้แก่ราษฎรพร้อมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
ต่อมา
เมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมเพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ
โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง
ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑.
การให้การบำบัดรักษาโดยการตรวจจากคณะแพทย์พระราชทาน ซึ่งอาจแบ่งออกได้ดังนี้
๑.๑ แพทย์ประจำพระองค์ และแพทย์ตามเสด็จ นำโดยนายแพทย์ประจำพระองค์
จะตามเสด็จไปทำการตรวจรักษาราษฎรที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมตามหมู่บ้านต่างๆ
๑.๒ หน่วยแพทย์หลวงของกองแพทย์หลวง สำนักพระราชวังและเจ้าหน้าที่
๑.๓ คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์ เป็นแพทย์อาสาที่มาจากหลายสาขาวิชา
หลายหน่วยงาน ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โดยเสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับคณะแพทย์อื่นๆ
และแพทย์ที่ประจำตามหน่วยรักษาพยาบาลท้องถิ่น
คือโรงพยาบาลของจังหวัดที่เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ซึ่งได้แก่
โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ
จังหวัดทหารบกเชียงใหม่
คณะแพทย์ตามพระราชประสงค์นับว่าเป็นคณะที่มีจำนวนมากที่สุด จากหลายสาขาวิชา
อาจแบ่งได้เป็นดังนี้
๑.๓.๑ คณะแพทย์อาสาจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
๑.๓.๒ คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
๑.๓.๓ คณะศัลยแพทย์อาสา จากโรงพยาบาลศิริราช
๑.๓.๔ คณะแพทย์ หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้
๑.๓.๕ หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ จากกรมแพทย์ทหารบก
๑.๓.๖ คณะจักษุแพทย์
อ่านหน้าต่อไป
|