แพทย์พระราชทานดังกล่าว
จะจัดชุดทำงานตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
๑. ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ได้แก่
โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส และโรงพยาบาลค่ายกาวิละ
จังหวัดทหารบกเชียงใหม่
๒. บริเวณที่ตรวจโรคหน้าภูพานราชนิเวศน์ และทักษิณราชนิเวศน์
๓. ตามเสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพยาบาลยังหมู่บ้านต่างๆ
ราษฎรเจ็บป่วยดังกล่าว
หาไม่จำเป็นต้องรับเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล
แพทย์จะให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นและถูกต้องอย่างดีที่สุด
ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยในขั้นที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล
ก็พระราชทานพระมหากรุณา ให้ราษฎรเหล่านั้นเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้
แล้วแต่ความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยโรคและความรุนแรงของโรคที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนั้น
โดยมีราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
เป็นผู้รับสนองไปดำเนินการปฏิบัติ
ผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระตำหนักตั้งอยู่
จะได้รับการเยี่ยมเยียนติดตามเอาใจใส่จากเจ้าหน้าที่จากกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถเป็นระยะๆ
จนกว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะออกจากโรงพยาบาลไป
หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับผู้ป่วยด้านธุรการ (นอกจากการตรวจรักษา)
คือ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล
จนถึงส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา
ผู้ป่วยจะได้รับการติดตามดูแลจากเจ้าหน้าที่แผนกคนไข้ของกองราชเลขานุการฯ
ดังกล่าว การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ราษฎรเจ็บป่วยเหล่านี้
มิได้จำกัดเฉพาะตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น
หากยังครอบคลุมไปถึงครอบครัวของผู้ป่วยด้วย เช่น
ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในกรุงเทพมหานคร บางรายต้องมีภาระเลี้ยงดูบิดา
มารดา ที่ชราแล้ว หรือบุตรที่ยังเล็กอยู่ กองราชเลขานุการฯ
จะจัดการฝากฝังให้มีผู้ดูแลบุคคลเหล่านั้นไว้แทนผู้ป่วย
โดยอาจส่งเงินค่าเลี้ยงดูไปให้หรือฝากฝังให้เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนดูแล
แล้วรายงานมาให้ทราบเป็นระยะๆ เป็นต้น
หากผู้ป่วยเจ็บป่วยจนไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรต่อไปได้ หรือพิการ หรือเสียชีวิต
บุตรที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนก็จะได้รับพระราชทานการศึกษาตามสมควรอีกด้วย
๒.
การอบรมหมอหมู่บ้านตามพระราชดำริ นอกจากหน่วยแพทย์พระราชทานที่จะรักษาพยาบาลผู้ป่วยระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ
แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรเหล่านั้นว่า
หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครแล้ว
เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่มีใครดูแลเพราะอยู่ในท้องถิ่นห่างไกล
การคมนาคมไม่สะดวก จึงมีพระราชดำริให้คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครตามหมู่บ้านต่างๆ
มารับการอบรมหลักสูตรหมอหมู่บ้าน
โดยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ทั้งนี้
เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับการอบรมเหล่านี้ได้นำความรู้กลับไปช่วยเหลือประชาชนในท้องถิ่นของตน
การอบรมจะเน้นในเรื่องการสาธารณสุขมูลฐาน เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การเวชศาสตร์ป้องกันอย่างง่ายๆ การโภชนาการ (โดยเฉพาะแม่และเด็ก)
การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รักษาพยาบาลของรัฐ คือ สถานีอนามัยจนถึงโรงพยาบาล
อำเภอและจังหวัด เจ้าหน้าที่ที่มาให้การสนับสนุนในการอบรมมาจากหน่วยงานต่างๆ
ทั้งพลเรือนและทหาร ทั้งฝ่ายปกครอง และฝ่ายการแพทย์ สถานที่ดำเนินการฝึกอบรม
ได้แก่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่พระราชนิเวศน์ตั้งอยู่ ซึ่งได้แก่
โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลนราธิวาส โรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดทหารบกเชียงใหม่
อ่านหน้าต่อไป
|