PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                                   หน้า   1    2     
 

โครงการศิลปาชีพพิเศษ

 
 


"...การส่งเสริมให้เด็กรู้จักประเพณีนิยมของไทยไม่ให้ลืมศิลปะดั้งเดิมของเรานั้นเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก..."


พระราชดำรัส
ในวันเปิดงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน
กระทรวงศึกษาธิการ
๑ ธันวาคม ๒๕๐๕

 

 
 

ความทั่วไป
          ในการดำเนินงานต่างๆ  ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังกล่าวมา ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่ต้องนำมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า การพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทรงกระทำในทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้แล้ว ยังมีการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนควบคู่ไปด้วยเสมอ
          การอุตสาหกรรมในครัวเรือน เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำรงชีพตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้ดำเนินงานอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยสนับสนุนพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้
         
 

 แนวพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการศิลปาชีพิเศษ
         
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าจะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแห่งอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ จึงทรงอุทิศกำลังพระวรกาย ตลอดจนพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษขึ้น และทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยนั้นเป็นผู้มีฝีมือในด้านศิลปาชีพหัตถกรรมสืบทอดกันมาช้านาน แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีฝีมือดังกล่าวนับวันจะลดน้อยถอยลงไปทุกที และวันหนึ่งข้างหน้าอาจสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการฟื้นฟูมาอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะช่วยยกฐานะราษฎรในชนบทที่ยากจน และชาวนาชาวไร่ที่ทำการเกษตรกรรมไม่เป็นผล ให้มีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะดำรงชีวิตและครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูสงวนไว้ซึ่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ฟื้นคืนกลับมา และสามารถสืบทอดให้ยั่งยืนเป็นมรดกศิลปสมบัติของชาติสืบต่อไปด้วย
การดำเนินการ
          มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ.2519 ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ
          มูลนิธิมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การส่งเสริมการหารายได้พิเศษให้แก่ครอบครัวชาวนา ชาวไร่ ผู้มีรายได้น้อยนอกฤดูกาลการทำนา โดยให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ การประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมจัดหาตลาดให้กับผลิตผลจากอุตสาหกรรมครัวเรือนเหล่านี้ด้วย
          งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและงานช่างฝีมือนี้ ได้ทรงส่งเสริมในทุกภาคตามความคุ้นเคยของประชาชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ที่จะพึ่งพาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ โดยที่ภาคกลางได้นำป่านศรนารายณ์  ลาน หรือหางอวน มาถักทอเป็นกระเป๋า หมวก รองเท้า ที่รองจาน และอื่นๆ มีการส่งครูไปฝึกการทอผ้าฝ้าย รวมทั้งให้มีการปั้นตุ๊กตาชาววังหรือตุ๊กตาไทย  ซึ่งโครงการปั้นตุ๊กตาไทยนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรแล้ว ยังเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปในต่างประเทศ เพราะตุ๊กตาไทยได้จำลองกิริยาท่าทาง การแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ และประเพณีวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี
                                                                                                                                                             อ่านหน้าต่อไป