PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                                   หน้า   1    2     
 

โครงการศิลปาชีพพิเศษ (ต่อ)

 
 

          ในภาคเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการทอผ้าไหม ผ้ายก ผ้าตีนจก และผ้าฝ้ายเนื้อหนา เกี่ยวกับงานเย็บปักถักร้อย ทำไม้แขวนเสื้อ และเครื่องเงินชาวเขาที่ใช้เป็นเครื่องประดับ เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวไทยภูเขา ได้ทรงทราบว่า ชาวไทยภูเขาเผ่าเย้ามีเครื่องแต่งกายที่ปักเป็นลวดลายและสีสันงดงาม ทั้งเป็นศิลปะที่ได้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว จึงทรงส่งเสริมและสนับสนุนงานปักของชาวเย้าไว้มิให้สูญหายไปด้วย
          ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรนิยมทอผ้ามัดหมี่ และผ้าไหมใช้เองอยู่ก่อนแล้ว แต่ขาดแคลนไหมที่ใช้ทอ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้สนับสนุนการเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมือง และการทอซิ่นไหมมัดหมี่ โดยการทอจากลายเก่าๆ แบบพื้นเมืองและได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าวัสดุและค่าแรง แล้วทรงรับซื้อผ้าที่ราษฎรทอขึ้น นอกจากนั้น ผู้ที่ทอผ้าฝีมือดีเด่น ก็จะได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษต่างหากจากค่าแรง
         ภาคใต้  เดิมมีการทอผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้ เช่น ผ้าลายต่างๆ (ผ้าลายดอกพิกุล ลายราชวัตร ลายดอกมะลิ) ต่อมาการทอผ้าขาดผู้นิยมเท่าที่ควร  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการทอผ้าพื้นเมืองให้เป็นที่นิยมสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้มีโครงการประดิษฐ์ดอกไม้จากเศษผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าชนิดต่างๆ รวมทั้งได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวภาคใต้อีกหลายอย่าง เช่น การสานเสื่อกระจูด การจักสานย่านลิเภา ซึ่งเป็นไม้เลื้อยที่มีอยู่ทั่วไปในภาคใต้ สามารถนำมาจักสานเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่าง เช่น กระเป๋าถือ ถาด พาน และที่รองแก้ว เป็นต้น
     
     

           นอกจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษตามท้องถิ่นทั่วๆ ไปแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังมีพระราชดำริจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ เป็นโครงการฝึกอบรมเกษตรกรขึ้นในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษนี้ ใช้พื้นที่ประมาร 700 ไร่ เพื่อทำการฝึกอบรมเกษตรกรในท้องถิ่นใกล้เคียงในด้านศิลปาชีพนานาชนิด ตามความเหมาะสมของสภาพท้องถิ่น ในการจัดหาวัสดุและความถนัดของเกษตรกร บางชนิดอาจเป็นศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นอยู่แล้ว บางชนิดอาจนำมาดัดแปลงจากท้องถิ่นอื่นก็ได้ ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพแห่งนี้ได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 แล้ว
          สรุป 
กิจกรรมต่างๆ ในเรื่องศิลปาชีพนี้ ปัจจุบัน ได้ขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางในแทบทุกจังหวัดของประเทศ เป็นผลให้ครอบครัวเกษตรกรหรือผู้ยากไร้โดยทั่วไป โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลักษณะของการว่างงานแอบแฝง ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาจุนเจือครอบครัวให้มีความสุขตามอัตภาพได้เป็นอย่างดีระดับหนึ่ง สวนในด้านผลผลิตและฝีมือในการผลิตก็เพิ่มปริมาณและมีคุณภาพมากขึ้นเป็นลำดับ จนเป็นที่แพร่หลายและยอมรับกันแล้วทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
          และสิ่งหนึ่งที่นอกเหนือจากผลแห่งความสำเร็จในการยกระดับรายได้ให้แก่ประชาชนก็คือ การกลับคืนมาแห่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยที่กำลังสูญหายให้คงอยู่ได้ต่อไป
         
พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้ ได้แสดงให้ปรากฎชัดแจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระปรีชาสามารถและพระราชวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทรงดำเนินการใดๆ ในทุกกรณีให้เป็นการสอดคล้องและสนับสนุนงานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะสร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรไทยและประเทศไทยสืบไป.