งานทั้งสองลักษณะข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุมในภาคเหนือตอนบน ประมาณ ๑๐ จังหวัด
คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์
และพิษณุโลก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๘ จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม
อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เลย และในภาคใต้ ๔ จังหวัด คือ
นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา
สรุป
โครงหารหน่วยแพทย์พระราชทาน
ซึ่งประกอบด้วยการบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน การอบรมหมอหมู่บ้าน
เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและมีปัญหาอุปสรรคที่ระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนและขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง
การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดรักษาผู้ป่วย
จะทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์
และสำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน
รู้วิธีปัจจุบันพยาบาล
และรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการในกรณีที่เกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้
อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า
โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจะแก้ปัญหาดังนี้
๑.
ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับโดยตรง
จำนวนราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
ในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน
จะเป็นชาวชนบทที่ยากจนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฎ
ในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็บป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์
ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาล และผู้ที่มารับการตรวจ
ตลอดถึงการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จไปตามหมู่บ้านต่างๆ
มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน
๒. ทางด้านเศรษฐกิจ
การที่ราษฎรที่เจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จะต้องใช้กำลังกายในการทำงาน ดังนั้น
เมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว
เขาเหล่านั้นก็สามารถมีพลังร่างกายที่จะต่อสู้กับงานหนักในการประกอบอาชีพได้
ซึ่งจะยังผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคมดีขึ้นอย่างแน่นอน
๓.
ทางด้านสังคมจิตวิทยา เป็นผลประการหนึ่งที่จะได้รับ
ในเมื่อราษฎรผู้เจ็บป่วยได้รับการช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย
ก็จะทำให้เกิดความสุขจากการที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัย
หรือผู้ที่มีทุพพลภาพิการก็ได้รับการแก้ไขจนสามารถเข้าสังคมกับคนทั่วไปได้
เมื่อสุขภาพร่างกายดีก็ย่อมทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีไปด้วย
การที่ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ
ก็จะมีผลให้ภาวะความเป็นอยู่ของเขาเหล่านั้นดีขึ้น
และส่งผลให้สังคมอันอาจหมายถึงการอยู่ร่วมกัน การกระทำกิจกรรมบางอย่างด้วยกัน
และอื่นๆ บังเกิดผลดีต่อไป |