กรรมวิธีฝนหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาสรุปกรรมวิธีฝนหลวงไว้เป็น 3
ขั้นตอนคือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี ซึ่งและขั้นตอนเป็นการดัดแปรสภาพอากาศตามขั้นตอนของขบวนการเกิดฝนตามธรรมชาติ
คือ การเกิดเมฆ การเจริญของเมฆ การตกเป็นฝน ตามลำดับ
กล่าวคือ
ขั้นตอนที่ 1
ก่อกวน
เป็นการดัดแปรสภารพอากาศโดยก่อกวนสมดุล หรือ เสถียรภาพของมวลอากาศที่จุดต่างๆ
ในท้องฟ้าบริเวณเหนือลมของพื้นที่เป้าหมายในช่วงเช้า
เพื่อเสริมกิจกรรมของการเกิดเมฆให้เร็วขึ้นและมีปริมาณมากกว่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
และให้เมฆที่ก่อเกิดขึ้นมีโอกาสเจริญจนแก่ตัวเต็มที่จะบังคับหรือโจมตีให้ฝนตกลงสู่เป้าหมายหวังผลซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ใต้ลม
ตามแผนปฏิบัติการประจำวันที่วางไว้ โดยการโปรยสารเคมีจากเครื่องบิน
ด้วยจุดประสงค์ที่จะเสริมสร้างแกนกลั่นตัวที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้มีปริมาณและคุณสมบัติที่พอเหมาะกับปริมาณความชื้นและสภาวะของมวลอากาศขณะนั้น
เพื่อให้เกิดการลอยตัวขึ้นของมวลอากาศเนื่องจากการไหลพาความร้อนอันเกิดจากปฏิกิริยาของสารเคมีที่ให้ความร้อนและความร้อนแฝงที่เกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำรอบอนุภาคสารเคมี
ซึ่งเป็นแกนกลั่นตัว ซึ่งเมื่อมวลอากาศที่ประกอบด้วยไอน้ำ
ถูกยกตัวให้ลอยสูงขึ้น อุณหภูมิจะลดลงจนถึงระดับของจุดน้ำค้าง
ไอน้ำในมวลอากาศนั้นจะกลั่นตัวบนอนุภาคที่เป็นแกนกลั่นตัวและเกิดเมฆขึ้น
ขั้นตอนที่ 2
เลี้ยงให้อ้วน
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศโดยก่อกวนสมดุล หรือ
เสถียรภาพของมวลอากาศให้มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งในด้านความกว้างและความสูง
รวมทั้งเพิ่มปริมาณและขนาดของเม็ดน้ำในก้อนเมฆให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและหนาแน่นพร้อมที่จะตกเป็นฝนก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย
โดยการโปรยสารเคมีสูตรร้อนสลับกับสารเคมีสูตรเย็น
ด้วยจุดประสงค์ที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณเม็ดน้ำให้กับก้อนเมฆแล้วยังจะทำให้เกิดการคลุกเคล้ากันของมวลอากาศอันเนื่องมาจากความแตกต่างของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของสารเคมีสูตรร้อนและสูตรเย็น
ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพของขบวนการชนกันและรวมตัวกันของเม็ดน้ำในก้อนเมฆ
ทำให้การเพิ่มจำนวนของเม็ดน้ำขนาดใหญ่เป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้
อุณหภูมิของมวลอากาศในก้อนเมฆที่สูงขึ้นเนื่องจากปฏิกิริยาของสารเคมีและการคายความร้อนของการกลั่นตัวจะมีผลให้เกิดกลไกทางไดนามิคส์ในเมฆ
ทำให้ยอดเมฆก่อตัวสูงขึ้น ยิ่งก้อนเมฆมียอดสูงขึ้นเท่าใด
โอกาสที่จะตกเป็นฝนและให้ปริมาณน้ำฝนสูงก็มีมากขึ้นเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 3 โจมตี
เป็นการดัดแปรกิจกรรมในเมฆเพื่อกระตุ้นหรือบังคับให้กลุ่มเมฆที่เจริญเติบโตและหนาแน่น
ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมพื้นที่เปาหมายให้ตกเป็นฝน
รวมทั้งเพิ่มปริมาณและขนาดเม็ดน้ำในเมฆนั้น ให้ได้ปริมาณน้ำฝนสูงขึ้น
การโจมตีเมฆทำได้หลายวิธี เช่น โปรยสารเคมีโดยตรงที่ฐานเมฆ หรือทับยอดเมฆ
หรือกระทำพร้อมกันแบบแซนด์วิช ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดียิ่ง
นอกจากนั้นกระทำได้โดยการดัดแปรบรรยากาศระหว่างฐานเมฆกับพื้นดินโดยการโปรยสารเคมีสูตรเย็นจัดที่มวลอากาศใต้ฐานเมฆ
ซึ่งจะทำให้มวลอากาศมีอุณหภูมิลดลง และความชื้นสูงขึ้น
ทำให้เกิดการกลั่นตัวอย่างรวดเร็ว
เสริมให้ปริมาณเม็ดน้ำที่ฐานเมฆหนาแน่นและเมฆหนักยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การลดอุณหภูมิใต้ฐานเมฆจะทำให้กระแสลมปรวนแปรทั้งแนวตั้งและแนวราบอ่อนตัวลง
ก้อนเมฆมก็จะลดฐานต่ำลง และเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้เร็วขึ้น
สารเคมีที่ใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 8 ชนิด
ซึ่งอาจใช้ได้ทั้งในรูปอนุภาคแบบผงและแบบสารละลาย
คุณสมบัติโดยทั่วไปของสารเคมีที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสารเคมีที่สามารถดูดซับความชื้นได้ดี
ซึ่งเมื่อหมดปฏิกิริยาแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นแกนกลั่นตัวของเม็ดน้ำในอากาศ
ซึ่งผลของการกลั่นตัวนี้จะคายความร้อนแฝงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางไดนามิคส์ของมวลอากาศและเมฆอีกด้วย
สารเคมีที่ใช้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1 เป็นสารเคมีที่เมื่อดูดซับไอน้ำแล้วเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น
ได้แก่ แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมคาร์บายด์ และแคลเซียมออกไซด์
กลุ่มที่ 2
เป็นสารเคมีเมื่อดูดซับไอน้ำแล้วเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง
ได้แก่แก่ ยูเรีย แอมโมเนียมไนเตรท และน้ำแข็งแห้ง
กลุ่มที่ 3
เป็นสารเคมีดูดซับความชื้น
ทำหน้าที่เป็นแกนกลั่นตัว
และไม่ทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเนื่องจากปฏิกิริยาเคมี
แต่จะทำให้เกิดการคายความร้อนแฝง
เนื่องจากขบวนการกลั่นตัวของไอน้ำกลายเป็นหยดน้ำที่อนุภาคของสารเคมี ได้แก่
โซเดียมคลอไรด์ และ ท.1
สรุป
จากผลความสำเร็จของการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา
ส่วนใหญ่เป็นการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม
และได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ประมาณ 40-63 จังหวัดต่อปี
ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสภาวะแห้งแล้งในแต่ละปี
ถึงแม้ว่ามีข้อจำกัดที่อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ และปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ
ซึ่งมีไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของประชาชนได้ทั้งหมดในแต่ละปี
แต่ก็นับได้ว่าโครงการฝนหลวงนี้ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไทย
และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศไว้ได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนั้นประโยชน์ที่ได้รับควบคู่กับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเกษตรกรรม คือ
การเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้แก่อ่างและเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทานและผลิตกระแสไฟฟ้า
แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ ช่วยทำนุบำรุงป่าไม้และการปลูกป่าทดแทน
รวมทั้งในบางช่วงฤดูกาลยังช่วยลดการเกิดไฟป่าด้วย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในพื้นที่เป้าหมายเกษตรกรรมที่ปฏิบัติการช่วยเหลืออยู่แล้ว
นอกจากนั้นยังปฏิบัติการบรรเทามลภาวะของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเน่าในแม่น้ำลำคลอง
โรคระบาด อหิวาตกโรค การระบาดของศัตรูพืชบาชนิด เช่น เพลี้ย ตั๊กแตนปาทังก้า
เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เคยปฏิบัติการได้รับความสำเร็จมาแล้วทั้งสิ้น
นอกจากนี้
จากความก้าวหน้าและความสำเร็จของกิจกรรมฝนหลวงนี้
ในกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ
ที่มีกิจกรรมด้านการดัดแปรสภาพอากาศที่ขึ้นทะเบียนไว้รวม 27 ประเทศ
ที่รับรู้ว่าการทำฝนหลวงเป็นกิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคเขตร้อน
รวมทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน
นอกจากจะรับรู้แล้วยังยอมรับและมอบให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกิจกรรมการทำฝนในเขตร้อนของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
มีประเทศที่ยอมรับกรรมวิธีฝนหลวงไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติการแล้วหลายประเทศ เช่น
อินโดนิเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และบังคลาเทศ
มีปลายประเทศที่ขอความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีระหว่างกัน ได้แก่
ออสเตรเลีย อิตาลี ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนจีน
และมีประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านนี้ที่จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือที่จะทำการวิจัยและพัฒนากิจกรรมนี้ร่วมกัน
คือ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา. |