PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


   

หน้า   1    2    3

 
 

โครงการฝนหลวง (ต่อ)

 
 

การดำเนินงาน
          การทำฝนเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่ต่อการรับรู้ของบุคคลทั่วไป ในประเทศไทยยังไม่มีนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ในระยะแรกเริ่มของโครงการฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นกำลังสำคัญและทรงร่วมในการพัฒนากิจกรรมนี้ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทรงวางแผนการทดลองปฏิบัติการ  การติดตามและประเมินผลปฏิบัติการทุกครั้งอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ววันต่อวัน ในการวางแผนทดลองปฏิบัติการแต่ละครั้ง นอกจากข้อมูลการรายงานผลปฏิบัติการประจำวันแล้ว ยังทรงนำข้อมูลด้านสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศประจำถิ่น ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา หลักวิชาด้านเคมีและฟิสิกซ์ของเมฆประกอบการวางแผนปฏิบัติการ รวมทั้งทรงกำหนดเป้าหมายหวังผลอย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะพระราชทานแผนแก่คณะปฏิบัติการในเวลา 01.00 น. หรือ 02.00 น. เพื่อให้ปฏิบัติการในตอนเช้าของแต่ละวัน นอกจากนั้นยังทรงปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างในการประสานงานขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ

 

 
 

และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนกิจกรรม อาทิเช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กองบินตำรวจ กองการสื่อสารกรมตำรวจ และกองทัพอากาศ ในรูปของศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษ สวนจิตรลดา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรูปของคณะกรรมการดำเนินการทำฝนหลวง รวมทั้งทรงห่วงใยต่อผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสัมผัสใกล้ชิดกับสารเคมีที่ใช้ปฏิบัติการอย่างที่สุดด้วย
           ในปี พ.ศ. 2514 เกษตรกรในจังหวัดพิจิตรและจังหวัดนครสวรรค์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้ทำฝนช่วยเหลือนาข้าวของทั้งสองจังหวัด ซึ่งกำลังประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงใกล้เสียหาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมเป็นครั้งแรก และประสบความสำเร็จสามารถรักษานาข้าวของทั้งสองจังหวัดให้รอดพ้นความเสียหายได้อย่างสมบูรณ์ นับแต่นั้นมาก็ได้ปฏิบัติการช่วยเหลือตามการร้องเรียนที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับควบคู่กับการพัฒนากรรมวิธีมาตลอด
          นอกจากจะทรงร่วมวางแผนปฏิบัติการโดยทางข่ายวิทยุสื่อสารและโทรศัพท์ทางไกลจากห้องทรงงานส่วนพระองค์และศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษ สังเกตการณ์และติดตามผล รวมทั้งทรงพระกรุณาพระราชทานข้อแนะนำทางเทคนิคและวิชาการผู้ปฏิบัติโดยตรง ณ ฐานปฏิบัติการต่างๆ บ่อยครั้ง และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในช่วงระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคม พ.ศ.2515 คณะผู้แทนจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้มาขอศึกษาและดูการทำฝนหลวงของประเทศไทย ซึ่งทรงรับอำนวยการสาธิตด้วยพระองค์เองโดยทรงกำหนดสนามบินบ่อฝ้าย ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดต่ออำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นฐานปฏิบัติการ กำหนดให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่เล็กที่สุดที่ประเทศไทยหรือต่างประเทศเคยปฏิบัติการมา จึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายในการสาธิตอย่างยิ่ง
 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแผน โดยข่ายวิทยุตำรวจในเวลาประมาณ 01.00 น. เพื่อให้ลงมือปฏิบัติการตั้งแต่เช้าของวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2515 และในตอนสายของวันเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงอำนวยการปฏิบัติการด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอนที่เขื่อนแก่งกระจาน จนกระทั่งสามารถบังคับให้ฝนตกลงสู่อ่างเก็บน้ำที่เขื่อนแก่งกระจานได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มลงมือปฏิบัติการภารกิจแรก ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมฝนหลวงจึงพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีภารกิจด้านเดียวกันนี้ กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2516 ทรงสามารถสรุปกรรมวิธีการทำฝนหลวง แล้วพระราชทานให้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงตราบเท่าทุกวันนี้ และเป็นแนวทางที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้าในอนาคตสืบไป                                                                                                          
                                                                                                                                                        
อ่านหน้าต่อไป