PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                           หน้า  1    2    3  
 

โครงการธนาคารโค-กระบือ (ต่อ)

 
 

        คนทั่วไปมักจะนึกว่าธนาคารเป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับกระแสเงินตรา แต่สำหรับธนาคารโค-กระบือ นี้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ อันเป็นที่มาของคำว่า "ธนาคารโค-กระบือ" ดังต่อไปนี้

 

 

 

         "...ธนาคารโค-กระบือ ก็คือการรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชี ควบคุมดูแลรักษา แจกจ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและกระบือเป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบัน มีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็นเครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ธนาคารโคและกระบือ พอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือ ก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคและกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวม..."
        รัฐบาลโดยกรมปศุสัตว์ ได้เริ่มดำเนินการตามโครงการธนาคารโค-กระบือตามพระราชดำริ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่อเริ่มดำเนินการได้ใช้กระบือของกรมปศุสัตว์ จำนวน ๒๘๐ ตัว ไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจนในพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี โดยการให้เช่าซื้อและผ่อนส่งใช้คืนในระยะ ๓ ปี หลังจากนั้นได้มีผู้ร่วมบริจาคสมทบโครงการอีกจำนวนมาก โครงการจึงขยายไปดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
          ปัจจุบัน ธนาคารโค-กระบือ ตามพระราชดำริ มีวิธีการให้บริการแก่เกษตรกรในลักษณะต่างๆ ดังนี้คือ
          ๑.  การให้เช่าซื้อผ่อนส่งระยะยาว
          เกษตรกรที่ยากจนที่ใคร่จะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของโค-กระบือของตนเอง ทางธนาคารฯ จะจัดหาโค-กระบือมาจำหน่ายให้ในราคาถูก โดยเกษตรกรจะต้องผ่อนส่งใช้เงินคืนให้แก่ธนาคารฯ โดยการผ่อนส่งในระยะเวลา ๓ ปี ซึ่งผู้ซื้อจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันหรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกันการผ่อนชำระดังกล่าว
     

          ๒. การให้เช่าเพื่อใช้งาน
          เกษตรกรที่ไม่มีโค-กระบือ ใช้งานของตนเอง อาจติดต่อขอเช่าโค-กระบือจากธนาคารฯ ไปใช้งานโดยทางธนาคารฯ จะพิจารณาให้เช่าในราคาถูก แต่ผู้เช่าจะต้องมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้อื่นที่เชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกันไว้กับธนาคารโค-กระบือ นี้
          ๓. การให้ยืมเพื่อทำการผลิตพันธุ์
         
เกษตรกรที่ยากจนหากต้องการจะยืมโค-กระบือ เพศเมีย จากธนาคารฯ ไปใช้เลี้ยงเพื่อผลิตลูกโค-กระบือ ก็อาจติดต่อขอยืมโค-กระบือจากธนาคารฯ ได้โดยผู้ยืมจะต้องแบ่งลูกโค-กระบือ ที่คลอดออกมาคนละครึ่งกับธนาคารฯ โดย ลูกตัวที่ ๑,๓,๕ ฯลฯ จะเป็นของธนาคาร ส่วนลูกตัวที่ ๒,๔,๖ ฯลฯ จะเป็นของเกษตรกร ทั้งนี้ ผู้ยืมจะต้องให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หรือผู้เชื่อถือได้ ค้ำประกันไว้กับธนาคาร
                                                                                                                                                            อ่านหน้าต่อไป