PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


   

          หน้า   1    2    3    4

 
 

การพัฒนาแหล่งน้ำ (ต่อ)

 
 

ประเภทของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
          โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปพิจารณาวางโครงการและดำเนินการก่อสร้างตามแนวพระราชดำริดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้
          1.  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภค ได้แก่ อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำ
          2.  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร
          3.  โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
          4.  โครงการระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม
          5.  โครงการบรรเทาอุทกภัย

 
 

 
 

หลักการและวิธีดำเนินงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มี่ต่อการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ
มีโดยสรุปดังนี้

          1.  ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ  ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ ในชนบทของทุกภาค เมื่อราษฎรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ กราบบังคมทูลรายงานถึงการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก จะทรงซักถามข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการน้ำของราษฎรเหล่านั้นอย่างละเอียด เป็นต้นว่า บริเวณที่ต้องการน้ำอยู่ในเขตหมู่บ้านใด สภาพขาดแคลนน้ำในแต่ละปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เป็นผลเสียกับการเพาะปลูกมากน้อยอย่างไร แล้วบันทึกข้อมูลลงในแผนที่มาตราส่วน 1
: 50,000 ที่ทรงนำไป ต่อจากนั้นจะทรงพิจารณาสภาพภูมิประเทศจากข้อมูลที่แสดงในแผนที่นั้น รวมทั้งข้อมูลจากที่ทรงได้รับจากราษฎร บางครั้งจะทรงใช้ภาพถ่ายทางอากาศประกอบพระราชดำริด้วยว่ามีลู่ทางสามารถจัดทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบใด มีขนาดของโครงการที่สมควรดำเนินการช่วยเหลือเป็นโครงการขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด จึงมีความเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละแห่งนั้น และทุกครั้งจะทรงพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน เพื่อหาลู่ทางในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศเสมอ พร้อมกับทรงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
     

 

          2.  ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมเกี่ยวกับสภาพแหล่งน้ำ  โดยที่การพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำ ร่วมกับสภาพภูมิประเทศและความต้องการของราษฎรด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติตามที่มีในแต่ละท้องถิ่นเสมอ
          ในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณที่ทรงมุ่งหมายจะให้มีการพัฒนาแหล่งน้ำหรือบริเวณที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้ทรงช่วยเหลือ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปยังจุดหมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดบริเวณที่จะสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำหรือฝาย ในแผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000  ก่อนเสมอ แล้วทรงศึกษา คำนวณ สภาพของน้ำของลำห้วย ณ บริเวณนั้น  ว่ามีน้ำปริมาณมากหรือน้อยเท่าใดก่อนทุกครั้ง เพื่อหาข้อมูลสภาพน้ำในการพิจารณาวางโครงการต่อไป เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณต่างๆ ดังกล่าว ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพการไหลของน้ำและขนาดของลำน้ำทุกคราวไป เพื่อประกอบพระราชดำริในการวางโครงการให้เหมาะสมกับสภาพแหล่งน้ำ
          3.  ทรงพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจและสังคม  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดหลักการความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการพัฒนาแหล่งน้ำตามภูมิภาคต่างๆ เสมอ ซึ่งนอกจากโครงการนั้นๆ จะมีความเหมาะสมทั้งทางสภาพแหล่งน้ำและสภาพภูมิประเทศที่สามารถจะดำเนินการก่อสร้างได้แล้ว ในขั้นสุดท้ายก็จะทรงพิจารณาถึงค่าลงทุนในการก่อสร้างโครงการด้วย ว่าจะคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ที่คาดว่าราษฎรในท้องถิ่นนั้นจะได้รับมากเพียงพอหรือไม่  หากทรงพิจารณาเห็นว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ก็พระราชทานพระราชดำริให้ระงับหรือชะลอการก่อสร้าง หรือให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำไปวางโครงการอย่างละเอียดให้เหมาะสมเสียก่อน
                                                                                                                                                             อ่านหน้าต่อไป