PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                           หน้า   1    2    3  
 

การพัฒนาทางด้านการเกษตร (ต่อ)

 
 

          การมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ยังมีลักษณะสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ การประหยัด โดยที่ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้วัวควายในการทำนามากกว่าใช้เครื่องจักร การปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยหรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยก็ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อสภาพและคุณภาพดินในระยะยาว นอกจากนั้น ยังทรงแนะนำในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพอันจะมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย รวมทั้งได้ทรงเน้นอยู่เสมอที่จะให้เกษตรกรมีรายได้เสริมหรือรายได้นอกการเกษตร จากการหาวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ไผ่ ย่านลิเพา ฯลฯ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ในการจักสานเพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ของตน
          ในกรณีของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทรงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ อย่างมาก โครงการพระราชดำริในด้านการเกษตรหลายโครงการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ว่านั้นเป็นอย่างดี โดยที่โครงการนั้นจะมีทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ มีการปลูกป่าควบคู่กันไปด้วยเสมอ และป่าที่ปลูกนั้นจะมีทั้งป่าไม้ยืนต้น ป่าไม้ผล และป่าไม้ใช้สอย เพื่อให้ราษฎรมีผลไม้บริโภคและมีไม้ใช้สอยตามความจำเป็น และยังเป็นการปลูกป่าเพื่อช่วยยึดหน้าดินไม่ให้น้ำเซาะพังทลาย และเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นของดินและอากาศในบริเวณนั้นๆ ด้วย
     
 

           ในกรณีของพื้นที่สูงทางตอนเหนือของประเทศ ก็ทรงเห็นว่า ชาวไทยภูเขาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินการเพื่อรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารสำคัญ วิธีการที่สำคัญคือ ทรงพยายามเข้าถึงชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ จะเห็นว่า แม้พื้นที่จะทุรกันดารและยากแสนลำบาก พระองค์ก็จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียน ทรงดำเนินการทุกวิถีทางที่จะเปลี่ยนแปลงแบบแผนการทำมาหากินของชาวไทยภูเขาจากการตัดไม้ทำลายป่า  โดยทรงแนะนำและส่งเสริมการเกษตรที่สูงโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่มีราคาดี และเหมาะกับสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือ ทั้งนี้เพื่อให้ชาวไทยภูเขามีรายได้สูง โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้าย ถางป่า ทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกฝิ่น ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จจนชาวไทยภูเขาเรียกพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า "เจ้าพ่อหลวงและเจ้าแม่หลวง" อาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของวิธีการดังกล่าวนี้นอกจากจะมีผลต่อเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากแล้ว ยังมีผลต่อความมั่นคงของชาติอีกทางหนึ่งด้วย
     
 
     
 

          โครงการพัฒนาด้านการเกษตรตามพระราชดำรินั้น ประกอบด้วยงานหลายประเภท ซึ่งโดยทั่วๆ ไปแล้ว จะเป็นงานที่เกี่ยวกับการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย หาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ และนำผลสำเร็จจากการศึกษา ทดลองไปถ่ายทอดสู่ประชาชน นอกจากนั้น ก็เป็นงานในด้านการฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ในวิชาการเกษตรแผนใหม่ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการถนอมอาหารและแปรรูปอาหารและการผลิตอาหารเพื่อโภชนาการด้วย
          สรุป   โครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น ได้ส่งผลโดยตรงต่อความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่มุ่งแก้ปัญหาหลักด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งความรู้ในด้านเทคนิค และวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่เคยมีโอกาสเช่นนี้มาก่อน รวมทั้งยังได้มีโอกาสเรียนรู้และเห็นตัวอย่างของความสำเร็จของการผลิตในพื้นที่ต่างๆ และสามารถนำไปปรับใช้ในการเพาะปลูกของตนเองอย่างได้ผล
          และความเจริญของเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมนี้ มิใช่จุดหมายในตัวเอง หากแต่ยังมีความหมายต่อความเจริญของภาคเศรษฐกิจแขนงอื่นและของประเทศชาติโดยส่วนรวม