PAGE TITLE
 
 
 
กลับหน้าหลัก
บทนำ
การพัฒนาชนบท
การพัฒนาการเกษตร
การพัฒนาแหล่งน้ำ
การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
การพัฒนาชาวเขา
โครงการธนาคารข้าว
โครงการธนาคารโค-กระบือ
โครงการฝนหลวง
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่
แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพ
โครงการศิลปาชีพพิเศษ
กังหันน้ำชัยพัฒนา


                           หน้า   1    2    3  
 

การพัฒนาชนบท (ต่อ)

 
 

          หลักการพัฒนาชนบทที่สำคัญประการต่อมาคือการรวมกลุ่มประชาชนเพื่อแก้ปัญหาหลักของชนบท  ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาพึ่งตนเอง โดยเฉพาะการรวมตัวกันในรูปของสหกรณ์ทุกพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินและมีโครงการตามแนวพระราชดำริขึ้นมาไม่ว่าลักษณะใด จะทรงเน้นเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกัน หรือเพื่อให้การทำมาหากินของชุมชนโดยส่วนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด จะเห็นได้ว่า กลุ่มสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริที่ประสบความสำเร็จในหลายโครงการ พัฒนาขึ้นมาจากการรวมตัวกันของราษฎรกลุ่มเล็กๆ เช่น สหกรณ์หุบกระพงนั้น ก็เกิดมาจากกลุ่มเกษตรกรที่ทำสวนผัก เป็นต้น
          การพัฒนาโดยกระตุ้นผู้นำชุมชนให้เป็นตัวนำในการพัฒนา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทรงใช้ในบางพื้นที่ตามความเหมาะสม ทรงพิจารณาผู้นำ

 

 
 

โดยเน้นในด้านคุณธรรม ความโอบอ้อมอารี ความเป็นคนในท้องถิ่นและรักท้องถิ่น จากนั้น ทรงอาศัยโครงสร้างสังคมไทยโดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์กระตุ้นให้ผู้นำชุมชนที่มักจะมีฐานะดีให้เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ความเจริญให้กับท้องถิ่น โดยชาวบ้านที่ยากจนให้ความสนับสนุน  ร่วมมือ ซึ่งในที่สุดแล้ว ผลแห่งความเจริญที่เกิดขึ้น ก็จะตกแก่ชาวบ้านในชุมชนนั้นทุกคน
          หลักการอีกประการหนึ่ง ที่ได้พระราชทานแก่ผู้รับสนองพระราชดำริ คือ การพัฒนานั้นจะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อนที่จะให้เกิดผลในทางความเจริญอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญที่มีพระราชดำริอยู่เสมอคือ ชุมชนควรจะพึ่งตนเองได้ในเรื่องอาหารก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้น จึงค่อยก้าวไปสู่การพัฒนาในเรื่องอื่นๆ การขยายการผลิตเพื่อการค้าใดๆ ก็ตาม ทรงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความพร้อมในด้านการตลาด โดยเฉพาะในด้านความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจการเกษตรของชาวบ้าน
     

 

          สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาชนบทที่สำคัญ คือโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าทางด้านการพัฒนาในแขนงต่างๆ ในพื้นที่ชนบทของประเทศ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ตลอดจนสภาพปัญหาและข้อจำกัดของการพัฒนา  การศึกษาค้นคว้านี้ครอบคลุมถึงการทดลอง การวิจัย  การแสวงหา วิธีการแก้ปัญหา และแนวทางการพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่นั้น รวมทั้งการขยายผลจากความรู้หรือผลจากการทดลองและการวิจัยให้กระจายไปสู่ประชาชนอย่างกว้างขวางด้วยเทคนิควิธีการอย่างง่ายโดยผ่านการสาธิตและการอบรมในรูปแบบต่างๆ
          การมุ่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาตามรูปแบบนี้ เป็นการเน้นแนวทางการพัฒนาโดยยึดข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก หลักการนี้เป็นผลมาจากสภาพความเป็นจริงที่ว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาหลักของพื้นที่ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อประโยชน์ในการปรับแนวความคิดในการพัฒนาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและปัญหาของแต่ละพื้นที่ และเนื่องจากปัญหาของแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดทางเทคนิค และวิชาการที่ต้องการความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาร่วมกัน รวมทั้งความต่อเนื่องของระยะเวลาการศึกษาค้นคว้าในพื้นที่จริง ศูนย์ศึกษากาพัฒนาจึงเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในทุกด้านได้เข้ามาร่วมกันเพื่อให้บริการช่วยเหลือแก่ประชาชนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
          ในทางปฏิบัติ งานสำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือการแก้ไขปัญหาหลักที่ชาวชนบทเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากวัตถุประสงค์สำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนาคือ การให้ราษฎรที่อยู่ในชนบท ได้มีโอกาสที่จะได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัส วิทยาการเกษตรแผนใหม่เพื่อช่วยให้การทำมาหากินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะทำให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
          ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจะเป็นแหล่งกลางของการประสานการช่วยเหลือของฝ่ายต่างๆ อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง ทั้งในฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง และฝ่ายรัฐบาลร่วมกับเอกชน โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือ ค้นคว้า ทดลอง วิจัยทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ทั้งในส่วนที่ได้คิดขึ้นตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ และส่วนที่ประสบผลแล้วในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจนเป็น "ตัวอย่างของความสำเร็จ" ที่สามารถแสดงสาธิตให้แพร่หลายไปสู่ชนบทได้อย่างกว้างขวาง กล่าวโดยสรุป ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจะเป็นจุดศูนย์กลางในการกระจายรากฐานการพึ่งตนเอง ทั้งในแง่แนวความคิดและวิธีการปฏิบัติออกไปสู่ประชาชนในภูมิภาคนั้นๆ
                                                                                                                                                             อ่านหน้าต่อไป