แนวพระราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนาที่ดิน
1.
การจัดการและพัฒนาที่ดิน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงเริ่มงานพัฒนาประเทศของพระองค์
งานจัดและพัฒนาที่ดินเป็นงานแรกๆ ที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญ
ด้วยทรงเห็นว่าที่ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากเช่นเดียวกับเรื่องน้ำ
จึงได้ทรงเริ่มโครงการจัดพัฒนาที่ดินหุบกระพงตามประราชประสงค์ เมื่อปี พ.ศ.2511
โดยให้เกษตรกรจำนวน 120 ครอบครัวเข้าไปทำกินในพื้นที่ 10,000 ไร่
มีส่วนราชการต่างๆ
เข้าไปช่วยเหลือราษฎรบุกเบิกที่ทำกินเพื่อพลิกผืนดินที่แห้งแล้ง
ขาดความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ให้สามารถผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อีกครั้งหนึ่ง
จุดมุ่งหมายของการดำเนินงานระยะนั้น คือ
การมุ่งแก้ไขปัญหาการไม่มีพื้นที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นเบื้องต้น
ดังกพระราชดำรัสที่ว่า
"...มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน
และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา
ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น
แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม
อย่างที่มีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคมหรือเรียกว่าหมู่หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม
ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้น สามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้..."
พระองค์ทรงเลือกพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ทิ้งร้าง ว่างเปล่า นำมาจัดสรรให้แก่ราษฎร
โดยให้สิทธิ์ทำกินชั่วลูกหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง
งานจัดพื้นที่ทำกินนี้ครองคลุมไปถึงกลุ่มชาวไทยภูเขาเพื่อหยุดยั้งลักษณะการเพาะปลูกดำรงชีพที่เป็นเหตุให้เกิดการทำลายป่าไม้ไปเป็นจำนวนมากด้วย
การจัดพื้นที่ดังกล่าวนั้นทรงมีหลักการว่า ต้องวางแผนการ
จัดให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โยใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศช่วยด้วย
ไม่ควรทำแผนผังที่ทำกินเป็นลักษณะตารางสี่เหลี่ยมเสมอไป
โดยไม่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ
แต่ควรจัดสรรที่ทำกินตามแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทาน
2. การพัฒนาและอนุรักษ์ดิน
หลังจากงานจัดพื้นที่ทำกินในระยะแรกนั้นแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขยายขอบเขตงานพัฒนาที่ดินด้านอื่นๆ ออกไป
โดยเริ่มงานทางด้านวิชาการมากขึ้นอีก เช่น
การวิเคราะห์และการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มขีดความสามารถ
และให้เหมาะสมกับลักษณะสภาพดิน ทรงแนะนำให้เกษตกรทดลองใช้วิธีการต่างๆ
เพื่ออนุรักษ์บำรุงรักษาดิน
วิธีการส่วนใหญ่เป็นวิธีการตามธรรมชาติที่พยายามสร้างความสมดุลของสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น
เช่น ให้มีการปลูกไม้ใช้สอยรวมกับการปลูกพืชไร่
ซึ่งจะช่วยให้พืชไร่อาศัยร่มเงาของไม้ใช้สอย
และได้รับความชุ่มชื้นจากดินมากกว่าที่จะปลูกอยู่กลางแจ้งหรือการปลูกพืชบางชนิด
ในพื้นที่ซึ่งดินไม่ดี
แต่พืชดังกล่าวให้ประโยชน์ในการบำรุงดินให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนใช้ปุ๋ยเคมี
พื้นที่บางแห่งซึ่งไม่เหมาะสมเลยสำหรับทำการเกษตรก็เห็นควรจะใช้ประโยชน์ทางอื่น
เช่น ฟื้นฟูขึ้นมาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ในระยะต่อมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้หันมาสนพระทัยงานพัฒนาที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค
จึงมีพระราชดำริเกี่ยวกับงานแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น
งานทดลองวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว
ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้และที่ดินชายฝั่งทะเล
รวมทั้งงานเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงและบำรุงรักษาดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปอีกด้วย
โครงการต่างๆ ในระยะหลังจึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ
และนำเอาการพัฒนาหลายหลากสาขามาใช้ร่วมกัน และที่ปรากฎชัดออกมาเป็นตัวแบบที่ชัดเจนก็คือ
แนวคิดและตัวอย่างงานพัฒนาที่ดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาหลายแห่ง เช่น
แบบจำลองการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์
และมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน
จังหวัดฉะเชิงเทรา งานศึกษาวิจัยพัฒนาพื้นที่ดินพรุในศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง
จังหวัดนราธิวาส
และงานพัฒนาที่ดินชายฝั่งทะเลในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
อ่านหน้าต่อไป
|