-
การพรางแสง
พันธุ์ไม้ต้องการแสงน้อยหรือพันธุ์ไม้ที่ยังอ่อนแออยู่
ควรจะได้มีการพรางแสง หากต้องปลูกพืชดังกล่าวในที่โล่งเกินไป
การพรางแสงปกติจะทำชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนพืชนั้นตั้งตัวได้
แต่ถ้าเป็นพืชที่ต้องการแสงน้อย ก็ต้องมีการพรางแสงไว้ตลอดเวลา
หรือปลูกใต้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้จะเหมาะสมกว่า
-
การให้น้ำ ปกติการปลูกควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
เพราะจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ
สำหรับการให้น้ำจะต้องพิจารณาลักษณะของพืชแต่ละชนิดประกอบด้วยว่า
ต้องการน้ำมากหรือน้อย
จึงจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของพันธุ์ไม้ที่ปลูกบ้างตามสมควร
แต่โดยหลักการแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ใหญ่ๆ
ก็ควรจะให้น้ำให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ปกติให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง
แต่หากพิจาณาเห็นว่าแฉะเกินไปก็เว้นช่วงได้
หรือหากแห้งเกินไปก็ต้องให้น้ำเพิ่มเติม คือต้องคอยสังเกตด้วย
ทั้งนี้เพราะแต่ละท้องที่จะมีสภาพดินและอากาศแตกต่างกัน
ส่วนการให้น้ำก็ต้องให้จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้
ซึ่งขึ้นอยู่กับพืชแต่ละชนิด แต่ก็พอสังเกตจากลักษณะของพืชนั้นได้
หากแสดงลักษณะเหี่ยวเฉาก็แสดงว่ายังตั้งตัวไม่ได้
-
การระบายน้ำ
จะต้องหาวิธีการที่จะต้องระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้ ถ้าฝนตกน้ำท่วม
โคนพืชที่ปลูกไว้ เพราะจะเป็นอันตรายต่อระบบรากของพืชได้
ทั้งนี้อาจทำโดยการยกร่องปลูก หรือพูนดินให้สูงขึ้นก่อนปลูก
ก็จะช่วยแก้ปัญหาน้ำขังได้ถ้ามีปัญหา
-
การพรวนดิน จะช่วยทำให้ดินร่วนซุยเก็บความชื้นดี
การระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศเป็นไปได้ดี
อีกทั้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย
จึงควรมีการพรวนดินให้พืชที่ปลูกบ้างเป็นครั้งคราว
แต่พยายามอย่าให้กระทบกระเทือนรากมากนัก
และควรพรวนในขณะที่ดินแห้งพอควร
-
การให้ปุ๋ย ปกติจะให้ก่อนปลูกอยู่แล้ว
โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (สูตรเสมอ เช่น 15-15-15 )
รองก้นหลุม แต่เนื่องจากมีการสูญเสียไปและพืชนำไปใช้ด้วย
จึงจำเป็นต้องใส่เพิ่มเติมโดยอาจจะใส่ก่อนฤดูฝน 1 ครั้ง
และใส่หลังฤดูฝน 1 ครั้ง
ซึ่งอาจใส่แบบเป็นแถวระหว่างพืชหรือหว่านทั่วแปลง หรือใส่รอบๆ โคนต้น
บริเวณของทรงพุ่ม หรือใช้ปุ๋ยเกล็ดผสมน้ำฉีดให้ทางใบ
การบำรุงรักษาพืชสมุนไพรควรหลีกเลี่ยงสารเคมี
ไม่ว่าด้านการให้ปุ๋ยหรือการกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช
เนื่องจากสารเคมีอาจมีผลทำให้ปริมาณสาระสำคัญในสมุนไพรเปลี่ยนแปลง
หรืออาจมีพิษตกค้าง เป็นอันตรายต่อการใช้สมุนไพร
ควรจะเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด