ยาสมุนไพรเป็นส่วนประกอบที่ได้มาจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุ
ตัวยาที่มีอยู่ในพืชสมุนไพรจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
แต่ที่สำคัญก็คือ "ช่วงเวลาที่เก็บยาสมุนไพร"
การเก็บในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะมีผลต่อฤทธิ์การรักษาโรคของยาสมุนไพรได้
นอกจากคำนึงถึงช่วงเวลาในการเก็บยาเป็นสำคัญแล้ว
ยังต้องคำนึงถึงว่าเก็บยาถูกต้องหรือไม่ ส่วนไหนของพืชที่ใช้เป็นยา เป็นต้น
พื้นดินที่ปลูก อากาศ การเลือกเก็บส่วนที่ใช้เป็นยาอย่างถูกวิธีนั้น
จะมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของยาที่จะนำมารักษาโรค
หากปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนไป
ปริมาณตัวยาที่มีอยู่ในสมุนไพรก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
ทำให้ยานั้นไม่เกิดผลในการักษาโรคได้
หลักทั่วไปในการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยาสมุนไพร แบ่งโดยส่วนที่ใช้เป็นยาดังนี้
-
ประเภทรากหรือหัว เก็บในช่วงที่พืชหยุดเจริญเติบโต ใบ ดอก
ร่วงหมด หรือในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน เพราะเหตุว่าในช่วงนี้
รากและหัวมีการสะสมปริมาณของตัวยาไว้ค่อนข้างสูง
-
ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น
ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด
หรือบางชนิดอาจระบุช่วงเวลาการเก็บชัดเจน เช่น
เก็บใบไม้อ่อนหรือไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เก็บช่วงดอกตูมเริ่มบาน
หรือช่วงที่ดอกบาน เป็นต้น การกำหนดช่วงเวลาที่เก็บใบ
เพราะช่วงเวลานั้น ในใบมีตัวยามากที่สุด วีธีการเก็บใช้วิธีเด็ด
ตัวอย่างเช่น กระเพรา ขลู่ ฝรั่ง ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
-
ประเภทเปลือกต้นและเปลือกราก
เปลือกต้นโดยมากเก็บระหว่างช่วงฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน
ปริมาณยาในพืชสูงและลอกออกง่าย สำหรับการลอกเปลือกต้นนั้น
อย่าลอกเปลือกออกทั้งรอบต้น
เพราะกระทบกระเทือนในการส่งลำเลียงอาหารของพืช อาจทำให้ตายได้
ทางที่ดีควรลอกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อย ไม่ควรลอกจากลำต้นใหญ่ของต้นไม้
หรือจะใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ ส่วนเปลือกราก
เก็บในช่วงต้นฤดูฝนเหมาะที่สุด
เนื่องจากการลอกเปลือกต้นหรือเปลือกรากเป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตของพืช
ควรสนใจวิธีการเก็บที่เหมาะสม
-
ประเภทดอก โดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน
แต่บางชนิดเก็บในช่วงดอกตูม เช่น กานพลู เป็นต้น
-
ประเภทผลและเมล็ด
พืชสมุนไพรบางอย่างอาจเก็บในช่วงที่ผลยังไม่สุกก็มี เช่น ฝรั่ง
เก็บผลอ่อน ใช้แก้ท้องร่วง แต่โดยทั่วไปมักเก็บตอนผลแก่เต็มที่แล้ว
ตัวอย่างเช่น มะแว้งต้น มะแว้งเครือ ดีปลี เมล็ดฟักทอง เมล็ดชุมเห็ดไทย
เมล็ดสะแก เป็นต้น
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ตามการถ่ายทอดประสบการณ์ของแพทย์ไทยโบราณนั้น
ยังมีการเก็บยาตามฤดูกาล วัน โมงยาม และทิศอีกด้วย เช่น
ใบควรเก็บในตอนเช้าวันอังคาร ฤดูฝนทางทิศตะวันออก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในที่นี้ขอแนะนำให้ใช้หลักการเก็บส่วนที่ใช้เป็นยาสมุนไพรข้างต้น
นอกจากนี้ท่านผู้ศึกษาการเก็บและการใช้สมุนไพร
สามารถเรียนรู้ได้จากหมอพื้นบ้านที่อยู่ในหมู่บ้าน
ซึ่งมีประสบการณ์เก็บยาและการใช้ยามาเป็นเวลาช้านาน
วิธีการเก็บสมุนไพรที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น โดยทั่วไปไม่มีอะไรสลับซับซ้อน
ประเภทใบ ดอก ผล ใช้วิธีเด็ดแบบธรรมดา ส่วนแบบราก หัว หรือเก็บทั้งต้น
ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง เพื่อประกันให้ได้ส่วนที่เป็นยามากที่สุด
สำหรับเปลือกต้นหรือเปลือกราก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของต้นพืช
ดังนั้นจึงควรสนใจวิธีการเก็บดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
คุณภาพของยาสมุนไพรจะใช้รักษาโรคได้ดีหรือไม่นั้น
ที่สำคัญอยู่ที่ช่วงเวลาการเก็บสมุนไพร และวิธีการเก็บ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ
ที่ยังต้องคำนึงถึงอีกอย่างคือ พื้นที่ปลูก เช่น ลำโพง
ควรปลูกในพื้นดินที่เป็นด่าง ปริมาณของตัวยาจะสูง
สะระแหน่หากปลูกในที่ดินทราย ปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะสูง
และยังมีปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต ภูมิอากาศ เป็นต้น
ต่างก็มีผลต่อคุณภาพสมุนไพรทั้งนั้น
ดังนั้นเราควรพิจารณาหาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ก่อนที่จะเก็บยาสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค |