หน้า  1   2   3

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัณฑรีย์ บุญประกอบ  กวินนาถ บัวเรือง
ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง

  .....................................................................................

     เมื่อเพื่อนไลเคนทั้งหลายผ่านการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคต่างๆ มาได้อย่างราบรื่น แม้กระทั่งไดโนเสาร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เคยครอบครองโลกอยู่นับล้านปีก็พ่ายแพ้ภัยต่างๆ สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้  แต่เพื่อนไลเคนที่รู้จักแบ่งปันและพึ่งพาอาศัยกันสามารถอยู่รอดมาได้ ขยายพันธุ์ด้วยการสร้างไอซิเดีย ซอรีเดีย และโครงสร้างอื่นๆ ซึ่งมีทั้งน้องราและน้องสาหร่ายหน่วยเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นชิ้นส่วนของเพื่อน ไลเคนเมื่อหักหรือหลุดออกจากร่างกาย และพบกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถเติบโตเป็นเพื่อนไลเคนตัวเดิมได้อีก
 

          เมื่อมนุษย์อุบัติขึ้นในโลก เห็นว่าเราน่าสนใจ จึงเรียนรู้เรา เริ่มต้นด้วยการตั้งชื่อให้เพื่อนแต่ละชนิดที่ลักษณะต่างกันจะจำได้ว่าใครเป็นใคร โดยมนุษย์ตาน้ำข้าวเป็นพวกแรกที่มาเจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตเราเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ส่วนมนุษย์ผิวเหลืองตาดำก็ดูแต่จะมีคนไทยและญี่ปุ่นที่รู้เรื่องเราดี คนไทยบอกว่ามีเพื่อนไลเคน 927 ชนิด เป็นเพื่อนใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในโลก (new species) 42 ชนิด

 

ภาพที่ 1 ไลเคนชนิดใหม่ของโลก
Hypotrachyna ramkhamhaengiana  Elix &Pooprang (
ซ้าย)
Myriotrema thailandicum  Homchantara & Coppins (ขวา)

 

          จากความสำคัญและประโยชน์ของเพื่อนไลเคนทำให้คนไทยรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มคนรักษ์เพื่อนไลเคนที่ชอบศึกษาในด้านแตกต่างกัน รวมตัวกันเพื่อศึกษาและหาทางช่วยกันอนุรักษ์ ยกตัวอย่างเช่น ศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตของเพื่อนไลเคนในแหล่งอาศัยธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการเพาะเลี้ยงไลเคนในห้องปฏิบัติการ และเพื่อนำไลเคนมาใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์สายพันธุ์ไลเคนต่อไป

 

          ศึกษาติดตามการเจริญเติบโตของเพื่อนไลเคนในระยะยาว พบว่า อัตราการเจริญเติบโตสูงเพียง 20.4 ม.ม./ปี  จากการติดตามผลในระยะเวลา 2 ปี ดังนั้นการที่จะนำไลเคนมาใช้ประโยชน์ ควรคำนึงถึงปริมาณทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ที่อาจมีไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ในระยะยาว ถ้าไม่มีแนวทางในการป้องกันรักษา และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น
          การย้ายปลูกเพื่อนไลเคนเพื่อจำนวน เพื่อรักษาสายพันธุ์ และเพื่อใช้ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศในสภาพพื้นผิวธรรมชาติและพื้นผิวต่างๆ มาย้ายปลูกระหว่างระบบนิเวศ พบว่าอิทธิพลของสภาพแวดล้อมมีผลต่อการอยู่รอดของเพื่อนไลเคนค่อนข้างมาก

หน้า  1   2   3


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665