โดย  ผศ.ผุสตี ปริยานนท์
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.............................................................................................................................................

      เมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 กองทัพเรือ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายเกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง จำนวน 9 เกาะ เข้าร่วมสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เกาะแสมสารเป็นเกาะหนึ่งใน 9 เกาะ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  เกาะอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 1.8 กิโลเมตร ระหว่างเกาะและชายฝั่งจะมีร่องน้ำที่ลึกและกว้าง ที่มีความลึกและความกว้างแตกต่างกัน
      การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบนหมู่เกาะแสมสาร ได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2541 โดยมีคณะสำรวจที่ทำการศึกษาเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 28 คณะ การศึกษาความหลากหลายของชีวิตสัตว์เลื้อยคลาน เป็นโครงการหนึ่งที่ดำเนินการสำรวจในครั้งนั้นเช่นกัน  จากการสำรวจในครั้งนั้นพบว่า บนเกาะแสมสาร มีสัตว์เลื้อยคลานที่พบเห็นจำนวน 12 สปีชีส์ ด้วยกัน  แย้ เป็นสปีชีส์หนึ่งที่พบเห็นบนเกาะนี้ และมีจำนวนมากว่าสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ  แต่จากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยขึ้นมาบนเกาะแสมสารในอดีต ได้เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนจะมีแย้อาศัยอยู่ทั่วไปบนเกาะเป็นจำนวนมาก  และเนื่องจากเกาะได้ถูกบุกรุก มีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก  มีการทำลายสภาพแวดล้อม ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยเฉพาะแย้บนเกาะลดจำนวนลงจนแทบจะไม่พบเห็นกันอีก ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริที่จะทำให้เกาะแสมสารกลับคืนมาเป็นศูนย์รวมของชีวภาพของเกาะและทะเลไทย การศึกษาชีววิทยาของแย้เพื่อการอนุรักษ์และการคืนสู่ธรรมชาติบนเกาะแสมสาร จึงเป็นโครงการหนึ่งที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
      การดำเนินงาน โดยการศึกษาสำรวจประชากรแย้บนเกาะต่างๆ เก็บตัวอย่างแย้บางส่วนจากพื้นที่เกาะบริเวณใกล้เคียงเกาะแสมสาร แย้ที่ได้ส่วนหนึ่งถูกนำศึกษาลักษณะทางอนุกรมวิธานและพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ส่วนหนึ่งได้นำไปเลี้ยงที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เพื่อทำการศึกษาด้านนิเวศวิทยา ชีววิทยาการสือบพันธ์ วิธีเพาะเลี้ยง เพื่อการอนุรักษ์และทางเศรษฐกิจ
      ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาเหล่านี้คือการนำแย้คืนสู่ธรรมชาติบนเกาะแสมสาร  เพื่อทำให้เกาะแสมสารเป็นแหล่งเก็บรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ  รวมทั้งเป็นแหล่งที่ใช้ในการศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป

คณะผู้วิจัย
ผศ. ผุสตี ปริยานนท์
ผศ.  ดร.มาลินี  ฉัตรมงคลกุล
อ.ดร. จุฑารัตน์ พิณสวัสดิ์
อ.ดร. ศานิต ปิยพัฒนากร
อ.ดร. วรัญญา อรัญวาลัย
ผู้ช่วยวิจัยจาก  หน่วยสมครามพิเศษทางเรือ
ผู้ช่วยวิจัยจากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
 

โครงการวิจัย  ดำเนินการโดย
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หน่วยสมครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ
สวนสัตว์เปิดเขาเขียว



 


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665