-1-

1    2    3

   
 

          ป่าชายเลน (Mangrove Forest ) เป็นสังคมพืชที่ประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดที่ไม่ผลัดใบหรือมีใบเขียวชอุ่มตลอดปี (Evergreen Species)  มีลักษณะทางสรีระและความต้องการสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน  พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่  ไม้สกุลโกงกาง (Rhizophora)  มักพบขึ้นอยู่บริเวณปากอ่าวชายฝั่งทะเลบริเวณเขตร้อนของโลก (Tropical Region)  ซึ่งเป็นช่วงแผ่นดินบริเวณที่มีน้ำเค็มขึ้นสูงสุดและลงต่ำสุด บางครั้งจึงเรียกว่า  Intertidal Forest  สภาพแวดล้อมเช่นนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ป่านี้แตกต่างไปจากป่าชนิดอื่นๆ



ป่าชายเลน  อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

          ทั่วโลกมีป่าชายเลนกระจายอยู่  2 บริเวณใหญ่ๆ คือ แถบอินโด-แปซิฟิก ประกอบด้วย ประเทศในอัฟริกาตะวันออก  อินเดีย  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ญี่ปุ่นตอนใต้  ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์  และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกของซามัย  และแถบอัฟริกาตะวันตก ประกอบด้วยประเทศในบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของทวีปอัฟริกา  และอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกแถบโซนร้อนอเมริกา  และบริเวณหมู่เกาะกาลาปาโกส
          โดยทั่วไปป่าชายเลนชอบขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีสภาพเป็นดินเลน และเป็นที่ราบกว้าง  อย่างไรก็ตามลักษณะภูมิประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อลักษณะโครงสร้างของป่า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของชนิดและการกระจายของพันธุ์ไม้ ตลอดจนขนาดของพื้นที่ป่าชายเลน เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น หากเป็นชายฝั่งประเภทจมตัว ซึ่งเป็นที่ราบแคบๆ ริมฝั่งทะเลหรือรอบๆ เกาะ ป่าชายเลนบริเวณนี้ก็จะมีลักษณะเป็นแนวแคบๆ แต่หากชายฝั่งทะเลมีพื้นที่ราบกว้าง ป่าชายเลนก็จะขึ้นอยู่เป็นบริเวณกว้าง
          ในประแทศไทย ป่าชายเลนขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลปากแม่น้ำลำคลอง และบริเวณรอบเกาะที่มีสภาพเป็นดินเลน กระจายอยู่ตลอดแนวฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดตราดลงไปจนถึงใต้สุด  คือ จังหวัดนราธิวาส และฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือฝั่งทะเลอันดามัน  ตั้งแต่จังหวัดระนองไปจนถึงสตูล

 
ป่าชายเลน อุทยานแห่งชาติโบกขรณี

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมของป่าชายเลน
          พรรณไม้ป่าชายเลนเป็นกลุ่มไม้ที่ต้องการแสงมาก และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชายฝั่งที่มีปริมาณฝนตกประมาณ 1,500-3,000 มิลลิเมตรต่อปี  แต่ก็สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ซึ่งมีฝนตกสูงถึง 4,000 มิลลิเมตรต่อปี
          ความถี่ของน้ำทะเลท่วมถึง  ช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลงก็มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความเค็มของน้ำบริเวณป่าชายเลน  กล่าวคือขณะที่น้ำขึ้น ค่าความเค็มของน้ำจะสูงขึ้นและลดลงเมื่อลงด้วย นอกจากนี้ การเกิดน้ำเกิดและน้ำตายก็ส่งผลให้ความเค็มของน้ำแตกต่างกันไปด้วย  คือ ช่วงน้ำเกิด น้ำมีความเค็มสูงจะไกลเข้าสู่ป่าชายเลนเป็นระยะทางไกลกว่าช่วงเวลาที่เกิดน้ำตาย  อีกทั้งระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นลงของน้ำทะเลแบบวันละครั้ง ที่เรียกว่า แบบน้ำคู่หรือน้ำลงแบบผสม ต่างก็มีอิทธิพลต่อลักษณะโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน
          ลม  เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของป่าชายเลน เนื่องจากลมมีอิทธิพลอย่างมากต่อความเร็วของกระแสน้ำและคลื่น  ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการพังทลายของดินชายฝั่งและต่อการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้

 

          ป่าชายเลนประกอบด้วยพืชทั้งที่เป็นไม้ยืนต้น เอปิไฟท์  เถาวัลย์ และสาหร่าย  ไม้ยืนต้นขึ้นอยู่ในป่านี้จะมีลักษณะผิดแผกกับไม้ในป่าชนิดอื่นๆ  คือ สามารถขึ้นอยู่ในดินเลนและที่ที่มีน้ำทะเลท่วมถึงเป็นประจำ หรืเป็นครั้งคราวได้  ดังนั้น เพื่อการเจริญเติบโต เพื่อความอยู่รอดและแพร่กระจายพันธุ์ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง  พันธุ์ไม้จำเป็นต้องมีการปรับตัว (adaptation)  และเปลี่ยนแปลงลักษณะทั้งภายนอกและภายในบางประการของระบบราก  ลำต้น ใบ  ดอก และผล  ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่พันธุ์ไม้แต่ละชนิดขึ้นอยู่ ตัวอย่างของลักษณะพิเศษนี้ ได้แก่

 

อ่านต่อ