1    2    3 

   

ปะการัง  เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง  จำพวกเดียวกับดอกไม้ทะเล มีรูปร่างเป็นทรงกระบอก ขนาดตั้งแต่ 1 มิลลิเมตร ถึง 1 เซนติเมตร มักอยู่รวมกันเป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่ม ที่เรียกว่า โคโลนี  ซึ่งบางกลุ่มอาจมีขนาดโคโลนีถึง 3 เมตร  แต่มีปะการังบางชนิดที่อาศัยอยู่แบบเดี่ยวและมีขนาดถึง 30 เซนติเมตร
          ชีวิตเล็กๆ ของปะการังซึ่งมีอายุเพียง 2 สัปดาห์ จะสร้างหินปูนออกมาพอกทับถมกันเป็นโครงร่างห่อหุ้มตัวอันอ่อนนุ่มของปะการังไว้ชั้นหนึ่ง  จากนั้นจะค่อยๆ แผ่ขยายออกไปเป็นกิ่งก้านสาขารูปร่างแตกต่างกันในปะการังแต่ละชนิด ปรากฎให้เห็นเป็นแนวปะการังประดุจผืนป่าแห่งท้องทะเล บางครั้งอาจพบแนวปะการังก่อตัวขึ้นเป็นเกาะปะการังก็มี และนั่นก็คือ ซากชีวิตเล็กๆ ของปะการังที่ตายทับถมพอกพูนตามธรรมชาติมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน















ปะการังแข็ง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

          ลักษณะพิเศษที่น่าสนใจของปะการังคือ  การอยู่รวมกันระหว่างพืชกับสัตว์ในตัวปะการัง  นั่นคือ ภายในผนังเนื้อเยื่อชั้นในของปะการังเป็นที่อยู่ของสาหร่ายเซลล์เดียว ที่เรียกว่า ซูซานเทลลี่ (Zooxanthallae)  สาหร่ายหรือพืชชนิดนี้จะพบได้ในปะการังแทบทุกชนิด  และยังพบในเนื้อเยื่อของสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่มีสีสันสวยงาม ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังด้วย  เช่น เพียงหัวหอม  หอยมือเสือ  โดยสาหร่ายเซลล์เดียวซูซานเทลลี่จะมีการสังเคราะห์แสงทำหน้าที่ผู้ผลิตอาหารและพลังงานให้แก่ปะการัง  เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตต่อไป และยังมีส่วนช่วยให้ปะการังสามารถสร้างหินปูนได้เร็วขึ้น

 

        ชีววิทยาของปะการัง
          ปะการังที่เจริญเติบโตเต็มที่จะให้กำเนิดลูกปะการังเล็กๆ มากมาย โดยวิธีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศจากการปฏิสนธิระหว่างไข่และสเปิร์มที่ถูกปล่อยออกจากปะการังตัวเต็มวัย  ซึ่งส่วนใหญ่จะรวมกันเป็นกลุ่มหรือเป็นโคโลนี  เมื่อไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์และเป็นตัวอ่อนแล้ว ตัวอ่อนจะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ จนกว่าจะสามารถหาที่จับเกาะได้  เช่น พื้นหินตามใต้ท้องทะเล
          การเดินทางผจญภัยในห้วงทะเลกว้างของลูกปะการังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นระทึกใจ  นอกจากจะต้องผจญภัยกับกระแสคลื่นที่ซัดไปซัดมาแล้ว ลูกปะการังเล็กๆ ผู้น่าสงสารอาจตกเป็นเหยื่ออันโอชะของสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ได้โดยง่าย  ไม่มีใครสามารถกำหนดชะตากรรมของการเดินทางรอนแรมอยู่ท่ามกลางทะเลกว้างได้  บางครั้งลูกปะการังเหล่านี้ต้องล่องลอยไปอย่างไร้จุดหมายเป็นระยะทางไกลนับพันๆ  กิโลเมตร  เพื่อหาที่พักพิง



ภาพแนวปะการังชายฝั่งทะเล

ลูกปะการังที่เหลือรอดชีวิตจะช่วยกันก่อร่างสร้างบ้านหลังใหม่ จนในที่สุดเกิดเป็นแนวปะการังขึ้นมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชุมชนชีวิตใต้ทะเล
          หลังจากนั้นปะการังก็จะสืบพันธุ์ต่อโดยวิธีไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อออกไปเรื่อยๆ  ตามแต่ลักษณะรูปร่างของปะการังแต่ละชนิด  และมีอัตราการเติบโตช้าเร็วต่างกัน  เช่น  ปะการังเขากวางบางชนิดเติบโตได้เฉลี่ยกว่า 10 เซนติเมตร ต่อปีเท่านั้น

อ่านต่อ