หน้า  1   2

 

ศาสตราจารย์กาญจนภาชน์  ลิ่วมโนมนต์
ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  ...................................................................................

         เมื่อพูดถึงสาหร่าย หลายคนคงนึกถึงน้ำที่มีสีเขียวตามบ่อหรือคูคลองที่น้ำขัง หรือตะไคร่ที่เกิดขึ้นตามพื้นที่ทำให้ลื่นล้ม และเมื่อพูดถึงสาหร่ายทะเลคงจะนึกถึง "จีฉ่าย" ที่ใส่แกงจืด  ก๋วยเตี๋ยว หรือใช้ห่อขนมจีบ ข้าวห่อสาหร่าย ตามร้านอาหารญี่ปุ่น และที่นำมาปรุงรสเป็นแผ่นเล็กๆ บรรจุซองพลาสติกที่นิยมเคี้ยวกันเพลินๆ
         ความจริงแล้วสาหร่ายทะเลที่รับประทานได้ มิได้มีเฉพาะจีฉ่าย หรือสายใบเท่านั้น แต่ยังมีอีกมากมายหลายชนิดที่บริโภคเป็นอาหารประจำวันในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และฮาวาย ที่มีกรรมวิธีปรุงและบริโภคแตกต่างกันไป  ชาวจีนมีประวัติการนำสาหร่ายทะเลมาใช้เป็นยาและเป็นอาหารมานานกว่า 2 พันปีมาแล้ว โดยเฉพาะแก้โรคคอพอกและแก้ไข้  สำหรับคนไทยยังไม่ค่อยนิยมบริโภคสาหร่ายกันเท่าใดนัก เฉพาะชาวบ้านที่อยู่ตามเกาะและบริเวณใกล้ทะเลที่รู้จักนำสาหร่ายมาประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน โดยนำมาจิ้มน้ำพริก ยำ หรือใช้แทนผักใบแกงส้มหรือแกงเหลือง  ท่านที่ไปจังหวัดชายทะเลและชอบเดินตลาดสดยามเช้า อาจเห็นชาวบ้านนำสาหร่ายสดใส่กระจาดมาขายหรือยำใส่กะละมังมาตั้งขาย แม้แต่ร้านอาหารบางแห่งยังมีเมนูอาหารที่ทำจากสาหร่ายทะเล อาทิ ยำสาหร่ายข้อ ยำสาหร่ายผมนาง หรือสาหร่ายจิ้มน้ำพริกเคยจะหลู เป็นต้น
          ขอแนะนำให้ท่านได้รู้จักกับสาหร่ายทะเล เพื่อเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ได้จากธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาโรคโดยไม่จำเป็น
         สาหร่ายทะเลมีคุณสมบัติทั่วไปเช่นเดียวกับพืชบก ที่มีโปรตีนและไขมันไม่มากนัก  มีแคลอรี่ต่ำและมีกากใยอาหารสูง แต่ที่แตกต่างจากพืชบกตรงที่มีปริมาณไวตามินและเกลือแร่สูง และเป็นพวกที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ  ไวตามินมีทั้งไวตามิน A, B, C, D, E และ K  แร่ธาตุได้แก่ แมกนีเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาททำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก  โปรแตสเซียมช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์และความสมดุลของน้ำในร่างกาย  สังกะสีช่วยเสริมระบบคุ้มกัน ทองแดงและเหล็กมีประโยชน์ต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง  ไอโอดีนป้องกันและรักษาโรคคอพอก ฯลฯ  นอกจากนี้ในสาหร่ายทะเลยังมีเบตาแคโรทีนเป็นองค์ประกอบ ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง และเป็นสารตั้งต้นของไวตามิน อีกทั้งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นแก่ร่างกายหลายชนิดที่ไม่พบในพืชบก  สาหร่ายทะเลถึงแม้จะมีรสเค็ม แต่มีปริมาณเกลือต่ำ เหมาะสำหรับใช้แทนเกลือในผู้ป่วยที่ไม่ต้องการโซเดียมในอาหารสูง
          การที่สาหร่ายทะเลมีกากใยสูงถึง 33-75 % น้ำหนักแห้ง ช่วยให้การขับถ่ายสะดวก ป้องกันท้องผูก และป้องกันการเกิดริดสีดวงทวาร นอกจากนี้การที่สาหร่ายมีปริมาณไขมันต่ำ ให้พลังงานน้อย แต่มีคุณค่าทางอาหารสูง  จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยให้อายุยืน เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

     

    สาหร่ายทะเลในน่านน้ำไทยหาได้ง่ายและแนะนำให้บริโภคได้แก่

  1. สาหร่ายช่อพริกไทย  Caulerpa lentillifera

  2. สาหร่ายเขากวาง   Caulerpa  corynephora

  3. สาหร่ายพวงองุ่น   Caulerpa  macrophysa

  4. สาหร่ายทุ่น   Sargassum  oligocystum

  5. สาหร่ายแดง   Halymenia  durvilleai

  6. สาหร่ายผมนาง   Gracilaria  fisheri

  7. สาหร่ายข้อ   Gracilaria  salicornia

  8. สายใบ   Porphyra  vietnamensis

  9. สาหร่ายหนาม   Acanthophora  spicifera

 

 หน้า  1   2


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665