หน้า    2      


    ผบ.วินัย ถวายการสาธิตขั้นตอนอนุบาลเต่าทะเล













 














 
           ผู้อาวุโสอีกท่านหนึ่งจาก อพ.สธ. คุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการ อพ.สธ. แม้ท่านจะไม่ได้เป็นผู้อาวุโสทางอายุ แต่ท่านเป็นผู้อาวุโสทางอาชีพ ด้วยบทบาท รอง ผอ.โครงการฯ ภาระหน้าที่หลักของท่านคือ การประสานงานกับโครงการต่างๆ ของหน่วยงานที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริ คุณพรชัยที่น้องๆ คณะปฏิบัติงาน อพ.สธ.เรียกขานกันนั้น หรือถ้าเป็นลูกน้องในหน่วยงานของ อพ.สธ.เรียกว่าพี่มิ้น สิ่งที่ประทับใจและเห็นจนชินตาคือ ท่านจะเป็นคนไขข้อข้องใจของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งระดับเล็กๆ หรือระดับใหญ่ของหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ได้ชัดเจน ทำให้พวกเราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการปฏิบัติงานให้ตรงตามพระราชดำริ หรืออาจจะเรียกว่าสนองพระราชดำริจริงๆ ไม่ใช่การนำชื่อโครงการไปแอบอ้างหรือปฏิบัติผิดๆ ซึ่งอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่โครงการและพระองค์ท่านได้ นอกจากนี้ คุณพรชัย เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีบุคคลิกเฉพาะตัวที่ในสิ่งที่คนทั่วไปเห็นภาพคือ ผู้ชายที่เดินคล้ายกับคนค้อมหลังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นบุคลิกที่คนทั่วไปมองเห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตัว พูดจาสุภาพและน่าฟัง และพร้อมที่จะอธิบายหรือไขข้อข้องใจได้ทุกครั้ง

          นาวาเอก (พิเศษ) วินัย กล่อมอินทร์  ที่พี่ๆ น้องๆ คณะปฏิบัติงานวิทยาการเรียกว่า ผบ.วินัย (ยอมรับว่าครั้งแรกผู้เขียนไม่ทราบว่า เป็นผู้บัญชาการหน่วยใด เพราะเพิ่งพบท่านในครั้งนี้) ความเป็นจริงปัจจุบันตำแหน่งท่านคือ รอง.1 ... บุคลิกของท่านที่โดดเด่นในสายตาผู้พบเห็นคือ สุภาพบุรุษทหาร การพูดการจา หรือการสั่งการ จะคล้ายเป็นทหารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ผู้ที่พบเห็นท่านอาจจะเกร็งๆ หรือเกรงๆ กับบุคลิก ท่าน ผบ.วินัย (เรียกตามพี่ๆ พวกพี่เองก็งงเหมือนกัน เดี๋ยวก็เป็น ผบ.เดี๋ยวก็เป็นรอง เลยไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรดี เรียกตามใจฉันดีกว่า อย่าถือพวกเราก็แล้วกัน) ท่านเป็นรุ่นบุกเบิก เช่นเดียวกับผู้อาวุโสที่กล่าวมาแล้ว เป็นกลุ่มที่ตั้งต้นทำงานในส่วนของ อพ.สธ.-ทร. ทราบจากท่านอาจารย์ผุสตีว่า ผบ.วินัย ได้ห่างหายไปจากวงการ อพ.สธ.-ทร. มาช่วงหนึ่งและท่านเพิ่งกลับเข้ามาปฏิบัติงานในส่วนของโครงการฯ อีกครั้งหนึ่ง  แอบได้ยินมาว่าท่านเป็นผู้ที่คอยผลักดันให้การดำเนินงานของโครงการ อพ.สธ.-ทร. สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือนอกจากจะเป็นทหารแล้ว ท่านยังเป็นนักวิจัยอีกฐานะหนึ่งด้วย เคยทราบว่าท่านเป็นผู้วิจัยเต่าทะเลที่เกาะสิมิลัน ในทะเลอันดามัน ทำให้เราทราบข้อมูลการสืบพันธุ์ การวางไข่ ช่วงเวลาผสมพันธุ์ และขอบเขตการกระจายของเต่าทะเลในประเทศไทย

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิโรจน์ ดาวฤกษ์  ถ้าพูดถึงหินของ อพ.สธ. ชื่อวิโรจน์ จะต้องถูกนึกถึงเป็นอันดับแรก อาจารย์วิโรจน์เป็นุรุ่นบุกเบิกอีกท่านหนึ่งของคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. หากใครนึกไม่ออก ให้สังเกตผู้ชายตัวสูง หุ่นดีและรูป (เคย)หล่อ พูดจาดี มีหลักการ ที่สำคัญมาดดีมาก (พูดง่ายๆ ต้องหล่อตลอดเวลา) อาจารย์เกษียณอายุราชการจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อาจารย์ก็ยังสอนอยู่ งานสอนของท่านที่ภาควิชาดังกล่าวไม่ได้ลดน้อยลงไปอย่างใด หลายครั้งหลายคราท่านไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมของโครงการฯ ได้ เนื่องจากท่านติดงานสอนที่ภาควิชาที่มากขึ้นไปกว่าเดิมก่อนที่จะเกษียณเสียอีก  อาจารย์วิโรจน์เป็นผู้ที่ชื่นชอบหินเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะไปยังที่ใด ท่านจะไปเสาะแสวงหาหินแปลกๆ มาให้พวกเราได้ชื่นชมเสมอ นอกจากหินแปลกๆ เหล่านั้นแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่พบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตโบราณมาอวดพวกเราเสมอ หลายชนิดเป็นสิ่งที่บางคนเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก และบางครั้งก็คาดไม่ถึงว่าหินจากเกาะในทะเลยังมีฟอสซิล!! ครั้งหนึ่งท่านไปพบฟอสซิลของสัตว์ตระกูลหอยที่อยู่ในหินบนเกาะกลางทะเลแห่งหนึ่ง เมื่อท่านมาเล่าให้ฟัง พวกเราอยากเห็นฟอสซิลจริงๆ แต่ลำพังพวกเราเอง คงไม่สามารถไปดูได้ ไหนจะเป็นแหล่งที่พบ การเดินทาง ซึ่งต้องโดยเรือ และความรู้เกี่ยวกับฟอสซิลต่างๆ ด้วยความเมตตาแก่ลูกกบตัวน้อยๆ ท่านได้พยายามหาเรือเพื่อไปยังแหล่งฟอสซิล และเมื่อพบแล้ว ท่านยังได้กรุณาอธิบายเรื่องราวในอดีตให้ฟัง ครั้งนั้นผมได้สงสัยว่าสิ่งที่ท่านกำลังอธิบายว่าเป็นฟอสซิลชนิดนั้นชนิดนี้ แต่บังเอิญคนโง่และไม่มีความรู้อย่างผม ก็ได้เรียนถามอาจารย์ไปว่า สิ่งที่เห็นนั้นเป็นฟอสซิลหรือว่าอวนชาวประมงที่ขาดมาติดอยู่ที่หินแห่งนั้น? ซี่งลักษณะฟอสซิลที่เห็นก็คล้ายกับอวนเป็นตาๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นคือวงแตก และผู้ถามเกือบถูกดีดลงทะเลไป ก็นับเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งกับความช่างสังเกตและความเมตตาต่องน้องๆ ที่ไม่มีความรู้

          ท่านสุดท้าย ครูอ้วน "นาวาตรีจำลอง ภูเลื่อน" ชายร่างอ้วน ผิวคล้ำเพราะแดด เสียงดัง และมีอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา พูดจาเสียงดังฟังชัด และผู้ช่วยจัดการพลเรือนเพื่อให้เกิดระเบียบวินัยเมื่อเรามาปฏิบัติงานเป็นกลุ่มใหญ่ ครูอ้วนของพวกเราและน้องๆทหาร คือชื่อที่เราคุ้นเคยจนจำชื่อจริงของครูไม่ได้ ทุกครั้งที่ไปร่วมงานกับโครงการ อพ.สธ.-ทร. นั้น จะต้องพบครูอ้วนเสมอ ครูอ้วนเป็นผู้ใหญ่ใจดีกับน้องๆ ที่เข้าไปร่วมโครงการฯ เสมอ (แต่กับน้องทหารแห่งเกาะแสมสารไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร)  ครูอ้วนเป็นนักเล่านิทานระดับปรมาจารย์ มีเรื่องนิทานต่างชาติหลายภาษาเล่าพวกเราฟังเสมอๆ เรื่องเก่าๆ ถึงแม้ว่าเล่าแล้วก็เล่าอีกสักสิบครั้งก็ยังสนุกทุกที คนที่ฟังแล้วรับประกันว่าไม่หัวเราะก็ให้รู้ไป ใครอยากทราบว่าครูอ้วนเล่าเรื่องอะไร ขอให้ไปถามที่ครูอ้วนเอง อย่างไรก็ดีเมื่อทหารเรือไม่ได้อยู่ในเรือ แต่ทหารเรือต้องเดินป่า สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทหารเรือพาหลงทาง สี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เมื่อทริปใหญ่ครั้งล่าสุดที่หมู่เกาะอ่างทอง เมื่อเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา คณะปฏิบัติงานฯ ชุดต่างๆ ได้แยกย้ายไปทำงาน คณะที่ครูอ้วนต้องรับผิดชอบคือคณะของอาจารย์ปู่ของเรานั่นเอง คือการเดินสำรวจพืชพรรณไม้ในผืนป่า ในวันดังกล่าวเนื่องจากเป็นระยะทางไม่ไกลจึงไม่ได้เตรียมอาหารกลางวันไปรับประทานในภาคสนามด้วย กะจะมากินที่พัก แต่เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารกลางวัน ก็ปรากฏว่ากลุ่มของอาจารย์ปู่ยังไม่มารับประทานอาหารที่จัดเตรียมเอาไว้ จนเวลาล่วงไปประมาณบ่ายสามโมง คณะของอาจารย์ปู่ก็ลงมาถึง หลายคำถามจึงตามมาว่า ทำไมลงมาช้า ไม่หิวข้าวกันหรือ คำตอบที่ได้รับคือ หลงป่า!! ทุกคนก็ถึงบางอ้อ โดยเฉพาะอาจารย์ปู่ หลังจากที่เดินหาทางลงอยู่ 2 รอบ ขาเริ่มหมดแรง ท้องเริ่มหิว แรงเริ่มอ่อนล้า อาจารย์มาเล่าให้ฟังในภายหลังว่า ถ้าหลงอีกรอบละก็น่าดู คนที่ฟังอาจารย์ปู่พูดจบก็อมยิ้มไปตามๆ กัน เพราะนั่นคือคำสัพยอกของอาจารย์นั่นเอง ไม่รู้ว่าหลงจริงหรือแกล้งหลงกันแน่ .. สงสัยอีกแล้ว แต่บอกให้เอาบุญ ครูอ้วนไม่ว่าจะไปเกาะไหน จะหลงทางแค่ไหน ครูอ้วนก็ไม่เคยท้อ เพราะกำลังใจดีจริงๆ

          จากที่ผู้เขียนได้บรรยายมา เป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของผู้อาวุโสแห่งคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. เป็นตัวอย่างที่หลากหลายที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจ ความเสียสละความสุขส่วนตัว ความสะดวกสบาย หลายท่านแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ใจเกินร้อย หลายท่านอายุ 25 (จะถึง 100 ปี) ร่างกายแม้จะอ่อนล้าแต่ใจก็เข้มแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวอย่างให้แก่คนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การสนองพระราชดำริ "องค์เจ้าฟ้านักอนุรักษ์... ขอจงทรงพระเจริญเป็นมิ่งของชาวไทยตลอดไป"

     
 
     

หน้า    2      

 
      ** บันทึกจากยอดเขาถึงใต้ทะเล 3 , หนังสือจากยอดเขาถึงใต้ทะเล 3 ทรัพยากรไทย ภูมิปัญญาไทย ผันสู่วิถีใหม่ในฐานไทย สู่เศรษฐกิจพอเพียง  
         
 
 
@ 2007 www.tis-museum.org.. All rights reserved.
This site is best viewed with Microsoft Internet Explorer 6.0+ at a minimum screen resolution of 1024 x 768,
A minimum modem connection speed of 56Kbps. Also required Flash plug-in.