เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานงานกล้วยไม้เอเชียแปซิฟิก
ครั้งที่ ๔ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
ในระหว่างทอดพระเนตรนิทรรศการและการประกวดกล้วยไม้
ซึ่งมีกล้วยไม้ไทยสวยงามต่างๆ นำมาจัดแสดงเป็นอันมาก
ได้มีพระราชดำรัสกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศาสตราจารย์ ดร.
อานนท์ เที่ยงตรง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ระพี สาคริก และ พลเอกแป้ง
มลากุล ณ อยุธยา เกี่ยวกับกล้วยไม้ป่าของเมืองไทยว่า
"...กล้วยไม้ไทยมีความงามมากและมีกลิ่นหอมมาก
ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากและใกล้สูญพันธุ์ไปทุกขณะ
ขอให้ช่วยกันหาทางรวบรวมและอนุรักษ์ไว้
พร้อมกับการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากพอที่จะคืนสู่ป่าธรรมชาติได้.."
นอกจากนี้
ในหลายโอกาสยังได้มีพระราชดำรัสให้ทุกหน่วยงานได้ร่วมกันช่วยดูและปกปักษ์รักษากล้วยไม้ไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
เพื่อให้กล้วยไม้ของไทยที่สวยงามและหายาก
ได้คงอยู่เป็นมรดกทางธรรมชาติอันล้ำค่าของประเทศสืบไป
หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมกันสองพระราชดำริ
บังเกิดโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไทยหลายโครงการ อาทิ
1.
โครงการคืนชีวิตกล้วยไม้ไทยสู่ไพรพฤกษ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกองทัพภาคที่ ๓
2.
โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กรมวิชาการเกษตร
3.
โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี
อินทนนท์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
4.
โครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทยหายากเพื่อการอนุรักษ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่
5.
โครงการขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลสำเภางาม สถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร
ป่าไม้ สิ่งแวดล้อ ตามพระราชดำริ บ้านปากแซม อำเภอเวียงแหง
จังหวัดเชียงใหม่
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
โปรดในความงามของธรรมชาติ
การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารรวมถึงชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ
เพื่อให้วัฎจักรแห่งธรรมชาติได้เป็นไปอย่างสมดุล
แม้ว่าพระราชกรณียกิจต่างๆ
จะมีมากจนแทบจะไม่มีเวลาว่างเหลือให้กับการพักผ่อนพระวรกาย
ก็ยังทรงหาเวลาที่จะปลีกพระองค์ เสด็จฯ
ไปทอดพระเนตรป่าเขาลำเนาไพรพฤกษ์ ชื่นชมพรรณไม้ป่าของไทย
และมีพระราชดำรัสในหลายโอกาส
กระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น
รวมถึงการให้ความรู้แก่เด็กและยุวชนให้ตระหนักในความสำคัญ
รู้จักคุณค่า เกิดความรักและหวงแหนในพืชพันธุ์ต่างๆ
อันเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญต่อไปในภายหน้าอีกด้วย
ในพระราชวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินงานของสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
จังหวัดเชียงใหม่ ในหลายวาระ มีพระราชดำริสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จฯ
เป็นแหล่งรวบรวมพรรณกล้วยไม้ป่าของไทย เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย
และพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน
ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในด้านต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันได้รวบรวมกล้วยไม้ป่าของไทยและตรวจสอบรายชื่อถูกต้องแล้วประมาณได้ถึง
๔๐๐ ชนิด พร้อมข้อมูลด้านนิเวศวิทยาอย่างสมบูรณ์ และเมื่อวันที่ ๓๐
มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปล่อยเอื้องแซะ (
Dendrobium scabrilingue Lindl.)
คืนสู่ไพรพฤกษ์บนคาคบไม้ป่าในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ฯ
ซึ่งกล้วยไม้พระราชทานทั้งสองกอนี้ ยังคงเจริญเติบโตเป็นอย่างดี
เอื้องแซะเป็นกล้วยไม้ไทยสกุลหวาย
พบมากเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ให้ดอกที่มีกลิ่นหอมหวานชื่นใจ บานนานประมาณเกือบ ๑ เดือน
และยังมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ
หากสามารถสกัดทำน้ำหอมจากดอกเอื้องแซะได้
ในการนี้ยังได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้แก่คณะอาจารย์
จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ได้ดำเนินการทดลองสกัดสารหอมระเหยจากเอื้องแซะเพื่อพัฒนาเพิ่มคุณค่าให้เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ซึ่งขณะนี้ผลงานกำลังมีความคืบหน้าเป็นไปด้วยดี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ต่อทรัพยากรป่าไม้
สัตว์ป่าและพรรณพืช อันเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ล้ำค่าของประเทศไทย
ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ที่จะให้คนไทยทุกคนได้รับรู้และตระหนักถึงความสำคัญ
คุณค่า ความงาม ของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้
และได้มีส่วนร่วมกันในการอนุรักษ์พันธุ์พืชของไทยทุกชนิด
โดยเฉพาะกล้วยไม้ป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของไทย
ที่มีความหลากหลายและความงามอย่างโดดเด่น
เพื่อให้คงอยู่สำหรับอนุชนรุ่นหลังที่จะได้เห็น
ชื่นชมและได้รู้จักกันสืบต่อไป
และให้เป็นสมบัติสืบทอดคงอยู่คู่แผ่นดินนี้อีกตราบนานเท่านาน