จังหวัดนครราชสีมา จัดเป็นเมืองธุรกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวที่สำคัญ ของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ปัจจุบันยังนับว่าโชคดีที่มีพื้นที่ของป่าที่ห่างจากตัวเมืองเพียง 10 กิโลเมตร มีเส้นทางไปตามถนนสายนครราชสีมา-โชคชัย เมื่อถึงป่าช้าจีนแล้วจะมีป้ายบอกทางเข้าให้เลี้ยวซ้ายเดินทางประมาณ 6 กิโลเมตร สังเกตดูมีป้ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อยู่ทางด้านซ้ายมือซึ่งเป็นเส้นทางเข้าสู่ป่าหนองระเวียง
          สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา) ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ป่าหนองระเวียงนี้ เดิมใช้เป็นพื้นที่ฝึกภาคสนามของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเรียกว่า "ศูนย์ฝึกภาคสนามหนองระเวียง" ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯได้รักษาสภาพพื้นที่ป่านี้ไว้ เพื่อใช้เป็นโรงเรียนธรรมชาติ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,500 ไร่ มีรั้วล้อมรอบอย่างถาวร มีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ คือ สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จำนวน 200 ไร่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จำนวน 200 ไร่ พื้นที่รองรับการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ จำนวน 1,100 ไร่ และพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1,000 ไร่

          ในพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มีทั้งป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ป่าชนิดนี้เป็นตัวแทนของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง และอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าหนองระเวียง มีโอกาสที่จะสัมผัสกับความงามของธรรมชาติป่าผืนนี้ได้เป็นอย่างดี

        กิจกรรมในพื้นที่ป่าหนองระเวียง
          มีกิจกรรมต่างๆ มากมายในแต่ละปี ที่สำคัญที่สุด คือกิจกรรมสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนเห็นความสำคัญของธรรมชาติ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษา รวมทั้ง
คณะครูอาจารย์เข้าร่วมจัดกิจกรรมระยะเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรม มีตั้งแต่ครึ่งวันจนถึง 3 วัน กิจกรรมที่ทำ อาทิเช่น

 

 ค่ายวิทยาศาสตร์ ศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปกติทางโรงเรียนจะจัดทำกิจกรรมของโรงเรียนเอง และมีกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา เข้าร่วมตามที่โรงเรียนขอความอนุเคราะห์วิทยากร ให้ความรู้ด้านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ การศึกษาตามทางเดินธรรมชาติ ซึ่งมีระยะทาง 200, 1,000 และ 5,000 เมตร ตามระยะเวลาที่กำหนดและตามความต้องการที่จะศึกษา มีการศึกษาข้อมูลในห้องพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ห้องมัลติมีเดีย ทำเป็นตัวสัตว์ต่างๆ ตามจินตนาการหรือเหมือนตัวจริง ทำดอกไม้รูปแบบต่างๆ โดยใช้ส่วนต่างๆ ของต้นไม้ที่ตกหล่น เช่น เมล็ดแห้ง รากแห้ง ผลแห้ง ฯลฯ มาจัดทำอย่างมีศิลปะอันงดงาม ดูมีคุณค่า จัดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างดี วิธีการนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเรียนรู้จากสิ่งที่ได้มา รู้คุณค่า ลักษณะ ประโยชน์ของส่วนต่างๆ ของพืชพรรณไม้ชนิดต่างๆ ตลอดจนนักศึกษามหาวิทยาลัยฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ป่าหนองระเวียงทุกๆ วันพุธของสัปดาห์ ในชั่วโมงกิจกรรม โดยมีตารางเข้ากิจกรรมของแผนกวิชาต่างๆ เช่นกัน