โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เขียนและเรียกโดยย่อ อพ.สธ. ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2536
ได้เชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆ
รักษาพื้นที่ในส่วนที่มีพืชพรรณดั้งเดิมขึ้นอยู่
เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมของพืชเหล่านั้นไว้
ด้วยตระหนักว่า พืชถึงแม้ว่าจะเป็นชนิดเดียวกัน
แต่เกิดมีมาแต่เดิมในที่ที่ห่างไกลกัน อยู่ในสภาพภูมิประเทศ
ภูมิอากาศที่ต่างกัน
ย่อมพัฒนาตามธรรมชาติเกิดเป็นกลุ่มพันธุกรรมที่ต่างกัน
ซึ่งอาจต่างในคุณสมบัติ พฤติกรรม
กลุ่มพันธุกรรมหนึ่งของพืชชนิดหนึ่งอาจมีความเข้มหรือปริมาณโอสถสารมากหรือสูงกว่าของอีกพันธุกรรมหนึ่ง
ถึงแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกัน
ในอีกส่วนหนึ่ง ได้ส่งคณะสำรวจออกไปสำรวจ
เพื่อทราบชนิดของพืชพรรณที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ
บนผืนแผ่นดินทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตการดำเนินงานของกรมป่าไม้
และได้รวบรวมพันธุกรรมพืชบางชนิดเพื่อนำไปปลูกรักษาไว้
ในพื้นที่ที่เห็นว่าปลอดภัย ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ
กับยังได้เชิญชวนให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย
รวมทั้งนักวิจัยจากรม กอง ต่างๆ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัย
เพื่อให้พืชพรรณเหล่านั้น เกิดเป็นประโยชน์แก่มหาชนชาวไทย
การดำเนินงานในระยะ 5
ปีแรก เป็นไปด้วยดี
แต่พระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ
ที่จะให้มีการสำรวจศึกษาพืชพรรณที่กระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ
ก็ยังมิอาจกระทำได้ เพราะขาดความพร้อมหลายประการ
จวบจนปี พ.ศ. 2541
กองทัพเรือเข้าสนองพระราชดำริ โดยเบื้องต้น
กองทัพเรือได้น้อมเกล้าฯ
ถวายการใช้พื้นที่เกาะแสมสารและเกาะข้างเคียงรวมทั้งหมด 9 เกาะ
เข้าเป็นพื้นที่ดำเนินการ อันได้แก่ เกาะแสมสาร เกาะแรด
เกาะฉางเกลือ เกาะโรงโขน เกาะโรงหนัง
เกาะจวง เกาะจาน เกาะขาม และเกาะปลาหมึก |