ปัจจุบันนี้ กระแสของการอนุรักษ์กำลังมาแรง
คนส่วนมากจะนึกถึงแต่การอนุรักษ์พลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำลำธาร ภูเขา ชายทะเล ป่าชายเลน
และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย
จะมีสักกี่คนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเล็กๆ
บนหน้าดอนและในดิน สิ่งมีชีวิตดังกล่าว ก็มีบทบาทไม่ใช่น้อย
เพราะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบนิเวศ
เนื่องจาก
สัตว์เหล่านี้ ต่างก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติ
บางชนิดเป็นผู้ย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ที่ตายลง
ทำให้เน่าเปื่อยผุพังจนกระทั้งกลายเป็นโมเลกุลที่เล็กลง
โดยอาศัยผู้ย่อยสลายตามลำดับชั้น
สิ่งมีชีวิตบางชนิดทำหน้าที่เป็นสัตว์ตัวห้ำ
ซึ่งหมายถึงมันจะกินสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นอาหาร
หรือบางชนิดก็จะทำหน้าที่เป็นตัวเบียนตัวเบียนจะอาจจะทำให้สัตว์อื่นที่มันไปอาศัยอยู่ด้วยเกิดโรคขึ้นได้
และในเวลาเดียวกันตัวเบียนก็อาจจะเป็นอาหารของสัตว์ที่มี่ขนาดใหญ่กว่าก็ได้
การทำหน้าที่ของสัตว์ดังกล่าวจะทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ
เป็นการหมุนเวียนถ่ายทอดพลังงานภายใต้วงจรของห่วงโซ่อาหาร (food
chain) และสายใยอาหาร (food web)
สัตว์หน้าดินและสัตว์ในดิน
รวมทั้งแมลงจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอย่างหนึ่ง
เช่น
แมลงหางดีดเป็นดัชนีชี้วัดว่าพื้นที่บริเวณนั้นไม่มีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอยู่ในดิน
พื้นที่การเกษตรที่มีการใช้สารเคมีอย่างมากเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชมักจะไม่พบแมลงหางดีด
ด้วงมูลสัตว์เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า
จะพบว่าพื้นที่ที่มีด้วงมูลสัตว์น้อย
แสดงให้เห็นว่าพืชพันธุ์ไม้ในป่านั้นๆ มีน้อย
สัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่านั้น
มีอาหารกินน้อยจึงถ่ายมูลออกมาน้อยเช่นกัน
ด้วงมูลสัตว์ซึ่งต้องใช้มูลสัตว์เป็นที่สำหรับการเจริญเติบโตแพร่ขยายพันธุ์
ก็จะแพร่พันธุ์ได้น้อยตามไปด้วย
การได้พบตัวชีปะขาวในยามค่ำคืนก็จะเป็นการบอกให้ทราบว่าแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้
ยังเป็นแหล่งน้ำสะอาดปราศจากมลภาวะ
เพราะว่าตัวอ่อนของชีปะขาวจะเจริญเติบโตได้เฉพาะในแหล่งน้ำที่สะอาดเท่านั้น
สัตว์หน้าดิน ในดิน
สามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มตามขนาด ได้แก่
-
Macro soil fauna
ได้แก่กลุ่มสัตว์ที่มีขนาดตั้งแต่ 2
มิลลิเมตรขึ้นไป จึงสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
-
Meso soil fauna
ได้แก่กลุ่มสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2
มิลลิเมตรลงไป จึงอาจะเห็นได้ค่อนข้างยากด้วยตาเปล่า
ต้องอาศัยดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
ในการศึกษาชนิดและปริมาณของสัตว์เล็กๆ พวกนี้
โดยเฉพาะในบริเวณป่าที่ไม่รกทึบมากนัก
เราจะกำหนดแปลงศึกษาเป็นแปลงขนาด 40 x 40
ตารางเมตร อีก 3 จุดภายในแปลงดังกล่าว โดยการปักหมุด 4
หมุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง-ยาว ด้านละ 1 เมตร
แล้วขึงด้วยเชือกเพื่อให้เกิดขอบเขตอย่างชัดเจน เมื่อเรียบร้อยแล้ว
ให้นั่งนอกวงเชือกอย่างสงบ แล้วใช้พลั่วมือค่อยๆ
คุ้ยเขี่ยใบไม้บนพื้นดินออกทีละน้อย
ในเวลาเดียวกันก็คอยสอดส่ายสายตา ว่ามีสัตว์หรือแปลงอะไรบ้าง
บันทึกชนิดและจำนวนของสัตว์ที่พบ ถ้ายังไม่ทราบชนิดก็ให้เก็บใส่ขวด
ดองด้วย 70 % แอลกอฮอล์
เพื่อนำไปศึกษาในห้องปฏิบัติการต่อไป
ในการศึกษาในแต่ละจุด
จะต้องใช้เวลาตรวจสอบอย่างน้อย 30 นาที
และผู้ศึกษาต้องเงียบและมีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด มิฉะนั้นแล้ว
สิ่งมีชีวิตที่ซ่อนตัวเงียบ ไม่ออกมาให้เห็น นี่เป็นการศึกษาพวก
macro soil fauna ส่วน meso soil
fauna นั้น
จะมีขนาดเล็กเกินกว่าจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า
และส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ภายในดิน
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขุดดินจากจุดศึกษา
คราวนี้จะกำหนดกรอบเล็กลงคือ จุดที่จะขุดจะมีขนาด 25 x
25 ตารางเซนติเมตร ใช้พลั่วมือขุดให้ลึกประมาณ
5-10 เซนติเมตร ให้ได้น้ำหนักดินประมาณ 2 กิโลกรัม
ใส่ดินนั้นลงไปในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น น้ำไปไล่ meso
soil fauna ออกจากดิน
โดยอาศัยเครื่องมือที่มีชื่อเรียกว่า Barlese funnel
ซึ่งจะมีรูปร่างคล้ายกรวย ทำด้วยโลหะ
เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 นิ้ว สูงประมาณ 8 นิ้ว
มีตะแกรงโลหะที่มีรูถี่ ขนาด 2 มิลลิเมตร วางที่ก้นกรวย
เพื่อกันมิให้ดินไหลออกไป นำดินจากถุงใส่ลงในกรวยทั้งหมด แล้วปิดฝา
ใต้ฝาที่ปิดนี้จะติดหลอดไฟฟ้าขนาด 25-40 วัตต์ นำขวดปากกว้าง
พอที่จะรองรับส่วนปลายของกรวยได้ ใส่ 70 % แอลกอฮอล์ไปรองรับไว้
แล้วเปิดไฟส่องเป็นเวลานาน 5-7 วัน
แสงและความร้อนจากหลอดไฟฟ้าจะทำให้สัตว์ในดินหนี
และมุดดินลึกลงไปยิ่งดินด้านบนแห้งลงไปมากเท่าไร
สัตว์ก็จะมุดลึกลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านตะแกรงและตกลงไปในขวดแอลกอฮอล์ที่รองรับอยู่
จากนั้นจึงนำไปศึกษาชนิดและจำนวนของสัตว์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ต่อไป |