-1-

 

หน้า  1    2

 
 
   

          ปะการัง (coral)  เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ประกอบด้วยตัวปะการังซึ่งเรียกว่า "โพลิป" (polyp) ซึ่งมีลักษณะไม่ซับซ้อนอยู่รวมกันเป็นโคโลนี (colony) ปะการังมีลำตัวนิ่ม มีหนวด (tentacle) ที่มีส่วนปลายเป็นเข็มยื่นออกมาใช้ในการจับเหยื่อที่เป็นตัวอ่อนของสัตว์ต่างๆ ที่ล่องลอยในน้ำเป็นอาหาร ปะการังสร้างชั้นหินปูนเคลือบลำตัว จึงมีโครงสร้างภายนอกแข็งแรง ซึ่งทำให้แตกต่างจากดอกไม้ทะเลที่เป็นสัตว์ทะเลที่มีลักษณะพื้นฐานอื่นคล้ายคลึงกัน โครงสร้างแข็งของปะการังจะขยายขนาดขึ้นโดยการแตกหน่อของโพลิป ทั้งนี้ ปะการังบางชนิดที่มีขนาดใหญ่สามารถเติบโตถึง 500 ปี และอาจมีจำนวนโพลิปนับล้านล้านตัว
          ปะการัง สามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ และแบบไม่อาศัยเพศ การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดขึ้นเมื่อปะการังเติบโตเต็มที่ โดยทำการปล่อยไข่และเสปิร์มออกมาผสมกันในน้ำ เกิดเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า "พลานูลา" (
planula) ตัวอ่อนเหล่านี้จะล่องลอย ไปตามกระแสน้ำจนกว่าจะลงเกาะในพื้นแข็งที่เหมาะสม ซึ่งอาจะเป็นก้อนหินหรือซากปะการัง และเจริญเติบโตเป็นปะการังต่อไป สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จะเป็นการแตกหน่อและขยายโคลนีไปตามรูปร่างลักษณะของปะการังแต่ละชนิด

ลักษณะของปะการังแตกต่างกัน เนื่องจากลักษณะการเจริญเติบโตหรือการแตกหน่อที่แตกต่างกันในแต่ละชนิด บางชนิดมีลักษณะเป็นก้อนตันคล้ายก้อนหิน เรียกว่า ปะการังก้อน (massive coral) บางชนิดมีการเติบโตรวมกันเป็นกระจุก แต่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เรียกว่า ปะการังกึ่งก้อน (submassive coral) บางชนิดเติบโตและขยายไปตามลักษณะพื้นที่ที่ปกคลุม เรียกว่า ปะการังเคลือบ (encrusting coral) บางชนิดเติบโตเป็นกิ่งก้าน แตกแขนงคล้ายกับเขากวาง เรียกว่า ปะการังกิ่งก้าน (branching coral) บางชนิดมีลักษณะเป็นแผ่นรวมกันเป็นกระจุกแบบใบไม้หรือผัก เรียกว่า ปะการังกลีบซ้อน (foliaceous coral) บางชนิดมีลักษณะเป็นแผ่น มีการขยายออกไปในแนวราบคล้ายจานหรือโต๊ะ และอาจมีการซ้อนกันเป็นชั้นๆ เรียกว่า ปะการังแผ่น (tabulate coral) และบางชนิดมีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยวคล้ายดอกเห็ด เรียกว่า ปะการังดอกเห็ด (mushroom coral)  ซึ่งแต่ละส่วน

เล็กๆ ของปะการังที่เติบโตหรือแตกหน่อเพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นส่วนของโพลิปที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 1 ถึง 2 มิลลิเมตร เป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากรูปร่างที่หลากหลายสีสันและความงดงามของปะการังก็มีความแตกต่างไม่แพ้กัน เหมือนดังประติมากรรมธรรมชาติที่ยากต่อการลอกเลียนแบบใต้ท้องทะเล

          ปะการังต้องการแสงเนื่องจากภายในเนื้อเยื่อของปะการังมีสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า "ซูโอแซนแทลลี่" (zooxanthallae) จำนวนหลายล้านตัวอาศัยอยู่ และสาหร่ายเหล่านี้ต้องการแสงและคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยผลผลิตที่ได้ คือ น้ำตาลและออกซิเจนจะถูกปะการังใช้ประโยชน์เพื่อเติบโต ซึ่งเป็นตัวอย่างของการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสัตว์และพืชที่ทั้งคู่ต่างได้รับประโยชน์ นอกจากนี้สาหร่ายเหล่านี้ซึ่งมีสีแตกต่างกันไปยังเป็นแหล่งของสีสันที่งดงามของปะการัง
          ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รูปร่างของปะการังแตกต่างกันได้แก่ คลื่นและกระแสน้ำ บริเวณน้ำตื้นหรือใกล้ฝั่งเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นและกระแสน้ำรุนแรง ทำให้ปะการังที่พบในเขตนี้มีรูปลักษณะที่ทนทานต่อสิ่งเหล่านี้ได้ เช่น ปะการังก้อน ในขณะที่ในเขตที่น้ำลึกกว่า จะพบปะการังที่มีรูปร่างบอบบางและแตกหักง่าย
          ปะการังที่พบโดยทั่วไปมีพัฒนาการของการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มปะการังหรือเป็นแนวปะการัง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการสะสมของหินปูนที่เกิดจากปะการังที่ตายทับถมกัน แนวปะการังนี้เกิดจากการขยายพื้นที่ของปะการังชนิดต่างๆ ทั้งขนาดเล็กหรือใหญ่ ทั้งนี้ไม่ว่าปะการังจะมีความทนทานต่อคลื่นและกระแสน้ำหรือจะบอบบางแตกหักง่ายเพียงใด เมื่อปะการังตาย โครงสร้างแข็งของปะการังก็จะแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและกลายเป็นทรายในที่สุด ทรายสีขาวเหล่านี้ซึ่งเกิดจากหินปูนปะการังที่บริสุทธิ์ จะถูกคลื่นพัดพาขึ้นมาสู่ชายหาด อันเป็นลักษณะเฉพาะของหาดทรายปะการัง หรือเป็นส่วนหนึ่งของเกาะปะการัง ดังนั้น ปะการัง จึงไม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

 

 

ากหนังสือ  จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ธรรมชาติแห่งชีวิต ที่ต้องเรียนรู้..ใช้ประโยชน์..และสร้างจิตสำนึก โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินเรื่องโดย สุชนา ชวนิชย์,วรณพ วิยกาญจน์, เจริญ นิติธรรมยง
 

อ่านหน้าต่อไ