พระมหากษัตริย์นักคิดนักปฏิบัติของปวงชนชาวไทย

          มีผู้รายงานพระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยถ่ายทอดในรูปของการนำเสนอรายละเอียดโครงการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นการประยุกต์วิชาการและเทคโนโลยีแขนางต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ มาใช้ เพื่อให้การพัฒนาตามโครงการต่างๆ นั้น สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์
          วิทยาการและเทคโนโลยีที่ทรงนำมาใช้ในการพัฒนานั้นมีหลายด้าน ดังเช่น
ด้านการเกษตร   ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้าทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อน ไหม ยางพารา ฯลฯ และพืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน พืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช รวมทั้งพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สัตว์ปีกต่างๆ พันธุ์ปลา ฯลฯ ตลอดจนการศึกษาสภาพของดินและพัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่หรือแนะนำความรู้ที่ได้จากการค้นคว้า ทดลองและวิจัยให้เกษตรกร นำไปปฏิบัติได้ด้วยราคาถูกและใช้เทคโนโลยีที่ง่ายไม่สลับซับซ้อน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถรับไปดำเนินการเองได้ หรือประกอบอาชีพของตนเองได้ และที่สำคัญคือพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือเทคนิควิธีการดูแลต่างๆ นั้น จะต้องเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย
          การที่จะทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเสริมสร้างสิ่งที่ชาวบ้านชาวชนบทขาดแคลนและต้องการ คือความรู้ในด้านเกษตรกรรม โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่เหมาะสม ในพุทธศักราช ๒๕๒๕ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้ตั้งศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทำการทดลอง วิจัยแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาและแนวทางการพัฒนา ตลอดจนเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และการประกอบอาชีพของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่นั้น รวมทั้งการขยายผลจากความรู้หรือวิธีการอย่างง่าย โดยผ่านการสาธิตและอบรมในรูปแบบต่างๆ 
          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงศึกษาค้นคว้าและทรงคิดค้นเทคนิควิธีหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายวิธีการ ทั้งวิชาการและเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม เช่น โครงการฝนหลวง แนวพระราชดำริการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร " ทฤษฎีใหม่ " แนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัด " แกล้งดิน" แนวพระราชดำริป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดย "หญ้าแฝก" เป็นต้น  ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงศึกษาค้นคว้า หรือคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเกษตรโดยตรงเท่านั้น ยังทรงคิดค้นเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรและคุณภาพชีวิตของราษฎรด้วย เช่น แนวพระราชดำริการปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก แนวพระราชดำริ "ป่าเปียก" เพื่อความชุ่มชื้นของดินและเป็นแนวป้องกันไฟ แนวพระราชดำริ "ภูเขาป่า" ซึ่งเป็นการฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้นและเทคโนโลยีเป็นหลักดำเนินการ แนวพระราชดำริพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ "ฝายชะลอความชุ่มชื้น"