เร่ว

ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum  villosum   Lour.  var. xanthioides   (Aall.ex Baker) T.L. Wu&S.chen
วงศ์ :   Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Bastard cardamom, Tavoy cardamom
ชื่ออื่น : มะหมากอี, มะอี้, หมากอี้ (เชียงใหม่)  หมากเน็ง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ลักษณะ : เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นหรือเง่าอยู่ใต้ดิน การแตกกอเว้นระยะห่างแต่ละต้นประมาณ 25-40 เซนติเมตร พบมีหลายชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่แทงช่อดอกจากเหง้าใต้ดิน ได้แก่ เร่วธรรมดาหรือเร่วกระวาน ใช้ผลเป็นเครื่องเทศ เร่วหอม ใช้รากปรุงอาหาร เร่วกระวานใหญ่ ผลใหญ่กว่าเร่วธรรมดา กลุ่มที่ออกจากปลายยอดได้แก่ เร่วลูกแดงหรือเร่วใหญ่ เร่วป่าใช้ผลเป็นผักจิ้มและเร่วขนใช้รากปรุงยา ในที่นี้จะกล่าวถึงเร่วธรรมดา หรือเร่วกระวานและเร่วหอม  ลำต้น  เร่วทั้งสองชนิดลำต้นสูง 2-4 เมตร เร่วธรรมดาลำต้นเรียบลื่น สีเขียวเข้ม โคนต้นสีขาว เหง้าใต้ดินสีขาวนวล ไม่มีกลิ่นหอม  เร่วหอม ลำต้นสาก สีเขียวอมแดง โคนต้นสีแดงเรื่อ เหง้าใต้ดินสีอมชมพู มีกลิ่นหอม ใบ  ออกแบบสลับ ใบหนา ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้มขนาดใบกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร ดอก  แทงช่อดอกจากเหง้าใต้ดิน ก้านช่อดอกยาว 4-6 เซนติเมตร ดอกสีแดง ขนาด 2.5-4 เซนติเมตร  ผล  เป็นช่อเปลือกผลมีขนคล้ายผลเงาะขนาด 1.5-2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มเรียงตัวอัดกันแน่นอยู่เป็ฯจำนวนมาก 
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ดและแยกหน่อ
นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย : พบตามพื้นล่างของป่าดงดิบบนพื้นราบ และตามป่าเขา ชอบที่ร่มรำไร ดินระบายน้ำดี

ประโยชน์ เร่วธรรมดา ใช้ผลเป็นเครื่องเทศ ที่รู้จักกันในนาม Bastard cardamom ในทางยาใช้ปรุงยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ จุกเสียด เร่วหอม ใช้ ราก ซึ่งมีกลิ่นหอมเป็นเครื่องเทศปรุงน้ำก๋วยเนื้อเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด และน้ำต้มเนื้อ

ข้อมูลเร่ว
: จากหนังสือทรัพยากรพันธุ์พืชเพื่อการอนุรักษ์ ของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กระทรวงศึกษาธิการ

 
 
ข้อมูลจาก :  หนังสือสวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ  โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล