ขมิ้นชัน  
ชื่อวิทยาศาสตร์
 Curcuma longa L.
วงศ์ :  Zingiberaceae
ชื่อสามัญ  Turmaric
ชื่ออื่น :   ขมิ้น  ขมิ้นแกง  ขมิ้นหยอก  ขมิ้นหัว  ขี้มิ้น  หมิ้น
ลักษณะ :
ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน ตรงกันข้ามเนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบ  เดี่ยว แทงออกมาเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกันรูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอก  ช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผล  รูปกลมมี 3 พู
ประโยชน์ทางสมุนไพร ตำรายาไทยใช้เหง้ารักษาโรคผิวหนังผื่นคัน โดยทำเป็นผงผสมน้ำหรือเหง้าสด ฝนทาน้ำ มีรายงานว่าพบน้ำมันหอมระเหยและสาร curcumin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองได้ดี จากการทดลองทารักษาโรคผิวหนังพุพองในเด็กพบว่าให้ผลเท่ายาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ยังใช้เหง้ารักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อและแผลในกระเพาะอาหาร โดยใช้ขนาด 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ฤทธิ์แก้ท้องอืดน่าจะเกิดน้ำมันหอมระเหย ส่วนการเพิ่มน้ำย่อยและขับน้ำดีเกิดจาก ฤทธิ์ของ curcumin และ       p-tolylcarbinol ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น อาการจุกเสียดลดลง curcumin ยังสามารถยับยั้งการเกิดก๊าซที่สร้างโดยเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย (Escherichia coli) แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งเมือกในทางเดินอาหาร จึงใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ แต่มีข้อควรระวังคือ curcumin ในขนาดที่สูงกว่าขนาดรักษา 2 เท่า ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร