BACK  บทนำ    สารบัญชื่อวิทยาศาสตร์    ชื่อท้องถิ่น  :                                                                                    


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พืชถิ่นเดียวและพืชหากยาก มีเกณฑ์กำหนดสถานภาพที่แตกต่างกัน
          พืชถิ่นเดียวหรือพืชเฉพาะถิ่น (endemic plants)  คือ พืชชนิดที่พบขึ้นและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติในบริเวณเขตภูมิศาสตร์เขตใดเขตหนึ่งของโลก และเป็นพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์ทางภูมิศาสตร์ค่อข้างจำกัด ไม่กว้างขวางนัก มักจะพบพืชถิ่นเดียวบนพื้นที่ที่มีลักษณะจำกัดทางระบบนิเวศ เช่น บนเกาะ ยอดเขา หน้าผาของภูเขาหินปูน แอ่งพรุ ฯลฯ  ถิ่นที่อยู่ดังกล่าวมีสภาพจำกัดของสิ่งแวดล้อมหรือมีสภาพดินฟ้าอากาศเฉพาะที่ (microclimate) พืชถิ่นเดียวของไทยหลายชนิดพบขึ้นเฉพาะบนภูเขาหินปูนหรือดินที่สลายมาจากหินปูน เช่น ก่วมเชียงดาว (Acer chiangkaoense  )  กันภัยมหิดล ( Afgekia mahidolae  )  กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii  ) เป็นต้น ในปัจจุบันยังไม่มีการสำรวจและวิเคราะห์จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศไทยอย่างครบถ้วน เนื่องจากยังขาดหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand)  ฉบับที่สมบูรณ์ หนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย เท่าที่ได้ตีพิมพ์ออกมาถึงปัจจุบันเป็นร้อยละ ๓๐ ของจำนวนพรรณพืชที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหาร (vascular plants) ทั้งหมดประมาณ ๑๑,๐๐๐  ชนิด  จากการสำรวจและวิเคราะห์พืชถิ่นเดียวของประเทศไทยเบื้องต้น พบว่ามีประมาณร้อยละ ๕ - ๗ ของพืชที่มีท่อลำเลียงน้ำและอาหารทั้งหมด ซึ่งนับว่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพืชถิ่นเดียวของประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพรรณพืช (plant diversity) อยู่ในลำดับสูง เนื่องจากประเทศตั้งอยู่ตรงบริเวณรอยต่อของเขตพฤกษภูมิศาสตร์ (floristic regions) ถึง ๓ ภูมิภาคด้วยกัน ได้แก่ ภูมิภาคอินเดีย-พม่า (Indo-Burmese) ภูมิภาคอินโดจีน (Indo-Chinese) และภูมิภาคมาเลเซีย (Malesian)  แต่จำนวนชนิดพืชถิ่นเดียวของประเทศค่อนข้างต่ำ เนื่องจากพรรณพืชส่วนใหญ่กระจายพันธุ์มากจากประเทศต่างๆ ของทั้งสามภูมิภาค
          พืชหายาก (rare plants)  คือ  พืชชนิดที่มีประชากรขนาดเล็กซึ่งยังไม่อยู่ในสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered) แต่มีความเสี่ยงที่จะเป็นพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ได้ พืชหายากเป็นพืชที่เราทราบจำนวนประชากรที่มีอยู่ตามแหล่งต่างๆ และส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ พืชถิ่นเดียว ที่ปรากฏในหนังสือพรรณพฤกษชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นพืชหายาก ยกเว้นพืชถิ่นเดียวเพียงไม่กี่ชนิดที่มีจำนวนประชากรขึ้นแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น ถั่วแปบช้าง ( Afgekia sericea ) กาญจณิการ์ ( Santisukia pagetii  ) และ อรพิม (Bauhinia winitii ) เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย แต่ไม่อยู่ในสถานภาพพืชหายาก เนื่องจากในถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติอันจำกัดนั้น  มีจำนวนต้นหนาแน่นทั่วพื้นที่  พืชถิ่นเดียวบางชนิดเคยอยู่ในสถานภาพพืชหายากมาก่อน แต่ต่อมามีผู้นำไปขยายพันธุ์ปลูกเป็นการค้าทั่วไป  จึงหมดสภาพพืชหายาก พืชที่สำรวจพบว่าหายากปัจจุบัน อาจมีแนวโน้มที่จะกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางขึ้นได้ในอนาคต หรือพืชที่มีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางในปัจจุบัน อาจจะเป็นพืชหายากต่อไปในกาลข้างหน้า พืชชนิดหนึ่งอาจเป็นพืชหายากในท้องถิ่นหนึ่ง แต่อีกท้องถิ่นหนึ่งกลับมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางก็เป็นได
.......................................................................................................................................................................................................................
ที่มาของข้อมูล หนังสือเรื่อง "พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย" สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี,  ๒๕๔๓  และ หนังสือ "พืชถิ่นเดียวและพืชหายากของประเทศไทย" ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช , ๒๕๔๗