คำปรารภ..
แรงบันดาลใจจากการที่ได้อ่านหนังสือ " หอมกลิ่นดอกไม้"
ซึ่งเป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพของ คุณประไพ
กันตารัติ ประกอบกับที่ ผศ.พัชรา ลิมปนะเวช
จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทายาทของคุณประไพได้นำหนังสือหอมกลิ่นดอกไม้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เพื่อใช้ประโยชน์ในงาน " สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน"
ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
ที่สำคัญผู้ที่ช่วยกันจัดทำหนังสือเล่มนี้คือ รศ. ดร.อบฉันท์
ไทยทอง , รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา และ รศ.วิยดา เทพหัตถี
อาจารย์จากคณะพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งสามท่านเป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ของโครงการฯ
โดยที่ท่านกรุณาให้ความรู้อบรมและติดตามการดำเนินกิจกรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการ"นักพฤกษศาสตร์น้อย"
ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในเรื่องตำราด้านพฤกษศาสตร์ท่านก็ช่วยสรรหาแนะนำหนังสือที่ให้ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ที่เหมาะสมให้กับโรงเรียนต่างๆนำไปใช้ศึกษาอ้างอิง
รวมถึงหอมกลิ่นดอกไม้เล่มนี้ด้วย
แต่ด้วยเหตุที่หนังสือนี้มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะมอบให้กับโรงเรียนสมาชิก
ทางโครงการฯ จึงขออนุญาตเจ้าของหนังสือคัดลอกข้อมูลทำเป็นเวบเพจ เปิดเป็นสื่อสาธารณะให้กับโรงเรียนสมาชิกและผู้ที่สนใจได้เข้ามาสืบค้นข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
อนึ่ง บางส่วนของข้อมูลที่เพิ่มเติมมานั้นได้มาจากหนังสือ "ไม้ดอกหอม"
ของ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น (สำนักพิมพ์บ้านและสวน) ดร.ปิยะ เป็นนักวิจัยคนสำคัญที่มีส่วนร่วมสนองพระราชดำริในงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
มาโดยตลอด โดยเฉพาะศึกษาและอนุรักษ์ไม้วงศ์จำปา (ถือโอกาสขอบคุณ ดร.ปิยะ
เฉลิมกลิ่น เอาไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
และสุดท้ายนี้
ใคร่ขอคัดลอกคำชี้แจงของผู้รวบรวมและผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ด้านล่างเพื่อให้ทราบถึงที่มาของข้อมูลหนังสือดังกล่าว
คำชี้แจงของผู้รวบรวม....(ศาสตราจารย์กสิน
สุวตะพันธุ์)
ดอกไม้ในเมืองไทยของเรานั้น
ส่วนมากจะแลดูไม่สวยงามสะดุดตา
แต่ก็มีกลิ่นหอมชวนดมอยู่มากมาย
เมื่อพูดถึงเรื่องกลิ่นหอมของดอกไม้แล้ว ใครๆก็ชอบ (อาจจะเป็นได้ที่มีบางท่านไม่ชอบกลิ่นดอกไม้บางชนิด
แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชอบในบางชนิดเหมือนกัน)
เพราะอย่างน้อยแนวคิดในการเปรียบเทียบกลิ่นของดอกไม้
ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความรู้จักพรรณดอกไม้นานาชนิดไปในตัว
ยิ่งกว่านั้นเราท่านก็คงจะเชื่อกันได้ว่ากลิ่นหอมดอกไม้นั้น
คงจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง
ที่ช่วยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ขึ้นได้อย่างง่ายดาย
และส่วนมากก็มักเป็นไปในทางที่ดี
ฉะนั้นเองเราจึงนิยมใฝ่หาพันธุ์ไม้ที่มีดอกส่งกลิ่นอันเป็นสุคนธรสมาปลูกประดับไว้ภายในเขตอาคารของตนตามควรแก่วิสัย
ฐานะและความเป็นอยู่ด้วยความรื่นรมย์
พันธุ์ไม้ดอกหอมๆนั้น มีทั้งที่เป็นต้นใหญ่ ต้นน้อย
ไม้พุ่มและเครือเถา เวลามีดอกบานก็ส่งกลิ่นกระจายไป
มากน้อยตามแต่ชนิดและกาลเวลา
ดังเช่นชนิดต่างๆที่นำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ไม้ที่รู้จักมักคุ้นกันในบรรยากาศเมืองไทย
คำชี้แจงของผู้จัดทำ
( รศ.ดร.อบฉันท์ ไทยทอง, รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา, รศ.วิยดา
เทพหัตถี)
เรื่อง "หอมกลิ่นดอกไม้" นี้ คณะผู้จัดทำซึ่งเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์กสิน
สุวตะพันธุ์
เห็นว่าความรู้เกี่ยวกับดอกไม้หอมในเมืองไทยที่อาจได้เคยเขียนไว้
และพิมพ์เป็นธรรมพลี 9 เมื่อ พ.ศ.2528 กับเรื่อง
ดอกไม้หอมเมืองไทยที่พิมพ์เผยแพร่ในงานมหกรรมประชาชน
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-29
ธันวาคม พ.ศ.2517
เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้เรื่องดอกไม้หอมเมืองไทยชุดแรก
และเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง
ตลอดจนมีความเป็นเอกลักษณ์ของสำนวนภาษาของท่านศาสตราจารย์กสิน
จึงได้เลือกชนิดพร้อมคำบรรยายของดอกไม้หอมจำนวนหนึ่งจากหนังสือทั้งสองเล่มมาจัดทำเป็นเรื่อง
"หอมกลิ่นดอกไม้"
เพื่อเป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณประไพ
กันตารัติ ตามคำขอของ ผศ.พัชรา ลิมปนะเวช
ธิดาของผู้วายชนม์
ในการจัดทำครั้งนี้ได้จัดหารูปสีประกอบ
เพิ่มเติมเรื่องฤดูกาลออกดอกที่ยังขาดอยู่
หรือเพิ่มลักษณะอื่นๆ บ้าง
ตลอดจนให้ข้อมูลเรื่องถิ่นเดิม
เพื่อให้พันธุ์ไม้แต่ละชนิดมีข้อมูลที่สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อความที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่นั้นได้จัดพิมพ์โดยใช้ตัวอักษรในลักษณะที่แตกต่างจากข้อความเดิม... |