ป่าชายเลน
มีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาแนวชายฝั่งอย่างยิ่ง
เนื่องจากเป็นถิ่นกำเนิดและเป็นที่เจริญเติบโตของพันธุ์พืชและสัตว์น้ำนานาชนิด
ที่เอื้อต่อการเจริญอยู่ของวงจรระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง
และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ศ. ดร. สนิท แก้วอักษร นักวิชาการชาวไทยที่ศึกษาวิจัยป่าชายเลน
ได้ให้นิยามความสำคัญของป่าชายเลนไว้มากมาย
โดยเปรียบป่าชายเลนว่าเป็นเสมือน "บ้าน"
ของพันธุ์สัตว์น้ำและพันธุ์พืชนานาชนิด
ที่ใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และเจริญเติบโต เป็นเสมือน "ครัว"
ซึ่งได้ธาตุอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตพืชและสัตว์จากเศษใบไม้ที่หลุดร่วงสลายเป็นอาหารในดิน
เป็นเสมือน "โรงบำบัดน้ำเสีย" เนื่องจากรากและลำต้นของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ
เป็นด่านกรองสิ่งปฏิกูลในน้ำก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล เป็นเสมือน "โรงยา"
ด้วยพืชหลายชนิดมีสรรพคุณทางสมุนไพรบำบัดอาการของโรคต่างๆ ได้ดี
เป็นเสมือน "ปอด" เนื่องจากสภาพธรรมชาติที่ร่มรื่น
ช่วยให้อากาศบริเวณชายฝั่งทะเลสะอาด บริสุทธิ์ เป็นเสมือน "สะพาน"
ที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ชายฝั่งและทะเล และที่สำคัญ คือ เป็นเสมือน
"อู่ข้าวอู่น้ำ" ของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งได้ทำประมง
และใช้ประโยชน์จาพืชนานาพันธุ์เพื่อการดำรงชีวิต
ป่าชายเลนจึงเปรียบเสมือนลมหายใจของสิ่งมีชีวิตที่ต้องดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุลตามธรรมชาติ
แต่ในระยะหลายสิบปีที่ป่านมา
สภาพป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามันถูกทำลายไปมาก
ซึ่งหากปล่อยปละละเลยกันต่อไป
อาจเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายต่อสมดุลทางระบบนิเวศธรรมชาติมากเกินกว่าจะแก้ไขได้ทัน
และป่าชายเลนอาจกลายเป็นเพียงภาพในอดีตที่เคยปรากฏบนผืนแผ่นดินไทยเท่านั้น
ในปี 2534
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ดูแลฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนตามแนวแนวชายฝั่งทะเลของไทยที่ถูกทำลาย
การไฟฟ้านครหลวงได้ร่วมสนองแนวพระราชดำรัส
ในการเติมชีวิตและลมหายใจแก่พื้นที่ป่าชายเลนของไทย
ให้กลับมาเป็นทรัพย์ในดินสินในน้ำอันมีค่าของแผ่นดินไทยอีกครั้ง
ด้วยการจัดการโครงการปลูกป่าชายเลน ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า
จังหวัดสมุทรปราการ
รวมทั้งการถ่ายทอดเรื่องราวของป่าชายเลน ในปฏิทินประจำปี
2548 ชุด "รักษ์ป่าชายเลน" นำเสนอความสำคัญ ความงดงาม
ความมีชีวิตชีวาของผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ ณ
ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์
อันจะก่อให้เกิดความตระหนักและก่อพลังในใจของคนไทย
ในการร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนของไทยให้เป็นสมบัติของแผ่นดินตราบนานเท่านาน... |
|
|
|
ที่มา
:
ปฏิทินการไฟฟ้านครหลวงประจำปี 2548 |
|