ตีนเป็ดทราย
ตีนเป็ดทะเล / ตีนเป็ดน้ำ
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Cerbera manghas  L.
วงศ์ :  Apocynaceae
ชื่อสามัญ :  -
ชื่ออื่น : ตีนเป็ดเล็ก (ภาคกลาง)  เทียนหนู  เนียนหนู (สตูล) ปงปง(พังงา) ปากเป็ด มะตากอ (มลายู-นราธิวาส)  รักขาว (จันทบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
: ไม้ต้น สูง 5-15 เมตร ลำต้น เรือนยอดกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้มเป็นมัน เรียงสลับ ออกรวมกันเป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง  ใบรูปไข่กลับแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ดอก สีขาวออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ใจกลางดอกสีแดงอมชมพู กลีบดอกเมื่อตูมจะซ้อนกันเวียนเป็นเกลียว รูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ปลายด้านหนึ่งจะยาวและแหลมกว่าอีกด้านหนึ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน 2 กลีบด้านนอกใหญ่กว่า 3 กลีบด้านใน ออกดอกตลอดปี  ผล รูปกลม สีเขียว ผิวเรียบ เมื่อแก่มีสีแดง เป็นมัน เมล็ดแข็งน้ำหนักเบา
นิเวศวิทยา
:  มีถิ่นกำเนิดที่หมู่เกาะเซเชลล์ ถึงหมู่เกาะแปซิฟิก พบตามป่าชายเลนและป่าพรุภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของไทย
ขยายพันธุ์
ด้วยเมล็ด และกิ่งตอน


 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cerbera Odollam  Gaertn.
วงศ์ :  Apocynaceae
ชื่อสามัญ : -
ชื่ออื่น :  ตีนเป็ดน้ำ (ภาคกลาง) ตุม (กาญจนบุรี) สั่งลา (กระบี่) มะตะกอ (มลายู-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
: ไม้ต้น สูงประมาณ 15 เมตร ลำต้น ทรงร่มมักแตกกิ่งต่ำ ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว  ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นวงๆ เป็นกระจุกแน่นที่ปลายกิ่ง ใบมันรูปไข่กลับแกมใบหอก โคนใบสอบ ปลายใบเป็นติ่งแหลม ดอก สีขาวออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ใจกลางดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีหลายดอก  กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบรองดอก 5 กลีบ ออกดอกตลอดปี   ผล ค่อนข้างกลม สีเขียว ผิวเรียบ เมื่อสุกสีแดง เป็นมัน
นิเวศวิทยา
:  มีถิ่นกำเนิดจากอินเดีย ศรีลังกา จนถึงอินโดนีเซีย พบขึ้นทั่วไปตามป่าชายหาด ชอบขึ้นตามริมแม่น้ำลำคลอง และที่ลุ่มซึ่งมีน้ำท่วมถึงทั่วไป
ขยายพันธุ์
ด้วยเมล็ด และกิ่งตอน





 

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด  ระหว่างตีนเป็ดทรายและตีนเป็ดน้ำ(ตีนเป็ดทะเล)  คือ ใจกลางดอกตีนเป็ดทรายมีสีแดงอมชมพู ในขณะที่ใจกลางดอกตีนเป็ดน้ำมีสีเหลือง และผลตีนเป็ดน้ำมีขนาดใหญ่กว่าตีนเป็ดทราย

HOME