กุหลาบพุกาม
กุหลาบเมาะลำเลิง
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Pereskia bleo  (Kunth) DC.
วงศ์ :  Cactaceae
ชื่อสามัญ :  Wax Rose
ชื่ออื่น : -
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
: ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 เมตร  ลำต้น โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งก้านอวบน้ำ และมีหนามยาวสีน้ำตาลแดง แข็ง ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ใบ ใบเดี่ยว  ออกสลับ รูปรี รูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับ  ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ก้านใบยาว ดอก มีสีแดงอมส้ม ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม 2-3 ดอก เป็นช่อสั้นที่ปลายกิ่ง ดอกทยอยบาน ปลายก้านเชื่อมติดกันติดกับฐานรองดอกมีใบประดับเล็กๆ 2-5 กลีบ รูปร่างไม่แน่นอน มีทั้งสามเหลี่ยมไปจนถึงปลายเรียวแหลม กลีบเลี้ยง 2-3 กลีบ รูปไข่ กลีบดอกรูปไข่กลับ 10-15 กลีบ เรียงซ้อนกันหลายชั้น ปลายกลีบเว้าตื้นหรือมีติ่งแหลม กลีบชั้นนอกใหญ่กว่าชั้นใน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ออกดอกตลอดปี  ผล รูปกรวยแหลม ด้านบนแบน เมื่อสุกสีเหลือง เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก 
นิเวศวิทยา
:  มีถิ่นกำเนิดในโคลัมเบีย เขตร้อนของอเมริกา ปานามา ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน
ขยายพันธุ์
ด้วยการปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง


 

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Pereskia grandiflora  Haw.
วงศ์ :  Cactaceae
ชื่อสามัญ : Bastard Rose, Rose Cactus
ชื่ออื่น :  กุหลาบเทียม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
: ไม้พุ่ม บางครั้งมีลักษณะคล้ายไม้เลื้อย  สูง 1-4 เมตร  ลำต้น โคนต้นมีเนื้อไม้ กิ่งก้านอวบน้ำ สีเขียวแกมม่วง และมีหนามสีน้ำตาลดำเป็นกระจุกออกตามซอกใบ ใบ ใบเดี่ยว  ออกสลับ รูปรี รูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ  ดอก สีชมพูอมม่วง ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่งทยอยบานจนดอกกลาง ดอกกลางไม่มีก้านดอก ฐานดอกคล้ายถ้วย มีใบประดับรูปไข่หรือไข่กลับ 1 ใบ อยู่ที่โคนก้านดอก และมีใบประดับขนาดเล็กอีกหลายใบอยู่ที่ฐานดอก กลีบดอก 6-8 กลีบ รูปไข่กลับเรียงซ้อนสลับ กลีบเลี้ยงคล้ายกลีบดอก มี 3 กลีบ รูปไข่ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ออกดอกตลอดปี  ผล คล้ายผลชมพู่เบี้ยว เมื่อแก่เป็นสีหลือง  เมล็ด รูปไข่กลับ หรือรูปรี
นิเวศวิทยา
:  มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง อเมริกาใต้
ขยายพันธุ์
โดยการปักชำกิ่ง


 


 

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด  ระหว่างหว่างกุหลาบพุกาม และกุหลาบเมาะลำเลิง คือ กุหลาบพุกามมีดอกสีส้มอมแดง ในขณะที่กุหลาบเมาะลำเลิงมีดอกสีชมพูอมม่วง

HOME