สุชนา ชวนิชย์ และ วรณพ วิยกาญจน์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  ........................................................................................

สัตหีบ  เป็นเมืองชายทะเลแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตเนื่องจากความสมบูรณ์ของทะเลบริเวณนั้น ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมงเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทะเลที่อุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลลดลง  เนื่องจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปะการังทั้งทางตรงและทางอ้อม  เช่น การจับปลาในแนวปะการังที่อาจทำให้ปะการังแตกหักเสียหาย  การขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งที่ส่งผลกระทบต่อรบบนิเวศปะการัง เป็นต้น  นอกจากนี้ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวก็ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังเช่นกัน
          เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณสัตหีบเป็นพื้นที่ในความดูแลของกองทัพเรือ  กองทัพเรือจึงไม่สามารถปฏิเสธบทบาทที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรในทะเลได้ การขยายฐานทัพเรือสัตหีบเพื่อใช้เป็นฐานทัพหลักของกองทัพเรือมีความจำเป็นในการสร้างแนวกันคลื่นขึ้นบริเวณอ่าวสัตหีบ ก่อให้เกิดแนวคิดและทำการย้ายปะการังบริเวณเกาะเตาหม้อ รวมถึงบริเวณที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างแนวกันคลื่นดังกล่าว เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติไว้เท่าที่สามารถทำได้ในเวลานั้น  ปะการังกิ่งและปะการังก้อนจำนวนหนึ่งได้ถูกย้ายไปยังเกาะขามโดยใช้ซีเมนต์ติดกับอิฐบล็อกหรือแผ่นซีเมนต์ แต่สิ่งที่ปรากฎหลังจากนั้นคือ เมื่อกองทัพเรือนำก้อนหินขนาดใหญ่ถมลงไปในทะเลบริเวณเกาะเตาหม้อเพื่อสร้างเป็นแนวกันคลื่นให้กับฐานทัพเรือสัตหีบนั้น มีปะการังมากมายหลายชนิดเกิดขึ้นตลอดแนวกันคลื่นทั้งสองฝั่ง ทั้งๆ ที่บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีตะกอนแขวนลอยเป็นจำนวนมาก

       ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมในการศึกษาปะการังที่หมู่เกาะแสมสาร เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนการสำรวจวิจัยโดยตรงจากหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ ในหัวข้อความหลากหลายของปะการังและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง

การสำรวจในเบื้องต้น เป็นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปะการังกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยในแนวปะการัง โดยทำการสำรวจด้วยวิธีวางแนวสำรวจ (line transect) บริเวณแนวปะการังทั้งในแนวตั้งฉากและขนานกับชายฝั่ง  เพื่อการศึกษาถึงชนิดและการกระจายของปะการังรวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น รวมถึงการทำการประเมินความสมบูรณ์ของแนวปะการังหรือเปอร์เซ็นต์การปกคลุมพื้นที่ของปะการัง หาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง และการใช้ประโยชน์จากแนวปะการัง เช่น ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศปะการังจากการลดจำนวนประชากรลงของประชากรปลิงทะเลที่มีผลมาจากความต้องการในการบริโภคของมนุษย์ที่มากขึ้น ตรวจติดตามการใช้ประโยชน์ของปลาและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบริเวณแนวปะการังย้ายปลูก เพื่อประเมินศักยภาพของปะการังย้ายปลูกในการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับในแนวปะการังธรรมชาติ เป็นต้น

          การศึกษาในปัจจุบันเน้นในเชิงลึกด้านการฟื้นฟูแนวปะการัง โดยอาศัยการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติแบบอาศัยเพศและเหนี่ยวนำให้เกิดการลงเกาะบนพื้นผิวที่กำหนดตามที่สังเกตจากการเกิดปะการังในแนวหินกันคลื่น ก่อนที่จะนำไปอนุบาลให้มีขนาดโตขึ้นระดับหนึ่งที่แหล่งอนุบาลตัวอ่อนปะการัง  แล้วจึงนำไปปลูกในแนวปะการังที่เสื่อมโทรมหรือแนวปะการังที่ต้องการฟื้นฟูต่อไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร อย่างไรก็ตาม การช่วยให้ธรรมชาติฟื้นฟู

ตัวเองอาจทำให้เราได้รับผลลัพท์ที่ยั่งยืนกว่าในปัจจุบันก็เป็นได้
          จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ปะการังในพื้นที่สัตหีบโดยรวมอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปานกลาง มีแนวปะการังไม่มากนัก ที่อยู่ในสภาพที่ดีเหมาะในการศึกษาเพื่อใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่อื่น ปะการังส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่ ปะการังเขากวาง ( Acropora  spp.) ปะการังก้อน ( Porites  spp.) ปะการังสมอง ( Platygyra  spp. ) ปะการังลายลูกฟูก ( Fungia  spp.)  เป็นต้น  นอกจากปะการังแล้ว บริเวณที่มีกระแสน้ำแรงและตะกอนมากพบกัลปังหาและแส้ทะเลหลายชนิด โดยเฉพาะกัลปังหาที่พบในบริเวณนี้เป็นรายงานการพบครั้งแรกในอ่าวไทย 3 สกุล ได้แก่  Echinomuricea , Menella  และ  Dichotella  และพบครั้งแรกในประเทศ 2 สกุล ได้แก่  Paraplexaura  และ  Guaiagorgia  สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นที่เข้ามาอาศัยหรือใช้ประโยชน์ เช่น ปลา พบกลุ่มปลาสลิดหิน ( Family Pomacentridae) เป็นปลากลุ่มเด่นในแนวปะการัง โดยเฉพาะปลาสลิดหินเล็ก ( Neopomacentrus cuneatus ) และปลาสลิดหินเบงกอล ( Abudefduf bengalenesis ) ปลาชนิดอื่นที่พบก็เป็นกลุ่มปลาที่สามารถพบได้ทั่วไปในแนวปะการังของอ่าวไทย  ในส่วนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบกระจายเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เม่นทะเล  ปลิงทะเลดำ  ซึ่งสะแดงให้เห็นว่า บริเวณนั้นมีสาหร่ายและไดอะตอมที่เป็นอาหารของสัตว์ทั้งสองมากเช่นกัน และพบดาวมงกุฎหนามซึ่งเป็นศัตรูของแนวปะการังอยู่ประปราย
          การเรียนรู้เกี่ยวกับปะการังเป็นวิธีการหนึ่งที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเล  ซึ่งปัจจุบันมีการนำวิธีการต่างๆ มาใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คือ การให้ความรู้แก่ชุมชน โดยให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและการวิจัยเชิงลึก ซึ่งเป็นการช่วยเสริมการรักษาปะการังให้คงอยู่ได้นานแสนนานตลอดไป.


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665