โดย  ผศ.ดร.มาลินี  ฉัตรมงคลกุล
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
...........................................................................................................................................

      แรดิโอลาเรียน (radiolarian) จัดเป็นโปรโตซัวจำพวกอะมีบา ใช้เท้าเทียม (Pseudopodium) ในการเคลื่อนที่และกินอาหาร สมาชิกทั้งหมดของโปรโตซัวกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทะเลเปิด มีเพียงบางชนิดอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง  โดยส่วนใหญ่ดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนตลอดทั้งช่วงชีวิต มีทั้งที่อยู่เป็นเซลล์เดี่ยวๆ และที่อยู่กันเป็นโคโลนี มีขนาดแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม ในกลุ่มที่อยู่เป็นเซลล์เดี่ยวๆ ส่วนใหญ่มีขนาด 20-50 ไมครอนและอาจมีขนาดใหญ่ถึงหลายร้อยไมครอน สำหรับในกลุ่มที่อยู่เป็นโคโลนีอาจมีขนาดหลายมิลลิเมตร หรืออาจมีขนาดยาวถึง 3 เมตร  เซลล์อาจมีสมมาตรแบบซีกซ้ายขวา หรือแบบรัศมี หรือแบบอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิด
      แรดิโอลาเรียน เป็นโปรโตซัวที่กินอนุภาคอินทรีย์และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น แบคทีเรีย สาหร่าย โพรติสท์ ไดอะตอม ทินทินนิด  โคพิพอด  ครัสตาเซียน และแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ  นอกจากนี้ตัวเซลล์ของแรดิโอลาเรียนจะมีสาหร่าย (algal symbiont) อาศัยดำรงชีวิตอยู่ร่วมด้วย ผลิตผลที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายเหล่านี้จะถูกใช้เป็นแหล่งอาหารของแรดิโอลาเรียนอีกทางหนึ่ง
      ลักษณะสำคัญของแรดิโอลาเรียนคือ ตัวเซลล์มีเยื่อหุ้มอยู่ภายในเรียกว่าเยื่อหุ้มแคปซูลกลาง (central capsule membrane) ซึ่งเป็นเยื้อหุ้มโปรตีนที่มีรูและแบ่งไซโตพลาสซึมออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. เอนโดพลาสซึม (endoplasm) ไซโตพลาสซึมส่วนนี้เป็นมวลหนาแน่น เรียกว่า แคปซูลกลาง (central capsule) ซึ่งอาจมีรูปร่างเป็นทรงกลม ทรงยาว หรือเป็นรูปลูกแพร์  ทั้งนี้ขึ้นกับกลุ่มของแรดิโอลาเรียนภายในแคปซูลกลางมีนิวเคลียส  ออร์กาแนลล์ต่างๆ และอาหารสะสม  ภายในแคปซูลกลางเชื่อว่าเป็นส่วนที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น สืบพันธุ์ สังเคราะห์ทางชีวเคมี และสร้างพลังงาน  เป็นต้น  และ

  2. เอคโตพลาสซึม (ectoplasm)  หรือคาลิมมา (calymma) เป็นส่วนของไซโตพลาสซึมที่อยู่นอกเยื้อหุ้มแคปซูลกลาง  ไซโตพลาสซึมส่วนนี้มีลักษณะเป็นฟองๆ หรือมีลักษณะเหมือนใย มีแวคคิวโอลอาหารและอาจมีแวคคิวโอลที่ภายในมีสาหร่ายอาศัยร่วมอยู่ด้วย  นอกจากนี้ในแรดิโอลาเรียนบางกลุ่มมีมวลทรงกลม  ซึ่งมีรงควัตถุอยู่ในส่วนของเอคโตพลาสซึมนี้ด้วย
    ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของแรดิโอลาเรียน คือ ตัวเซลล์มีโครงร่างภายใน (endoskeleton) ซึ่งเป็นสารจำพวกซิลิก้า  โครงร่างเหล่านี้อาจมีการสานถักทอจนมีลักษณะเป็นชั้นเปลือก ที่อาจมีลักษณะเป็นโครงผลึกแข็งแรง  หรืออาจมีลักษณะเป็นฟองน้ำบอบาง และอาจมีหนามร่วมด้วย  อย่างไรก็ตาม ในแรดิโอลาเรียนบางกลุ่มบางสกุลก็ไม่มีโครงร่าง มีเพียงแต่สปิคุล (spicule) เท่านั้น  ด้วยองค์ประกอบหลักของโครงสร้างแรดิโอลาเรียนที่เป็นสารจำพวกซิลิก้านี้เอง  โครงร่างของแรดิโอลาเรียนจึงมีลักษระต่างๆ กัน มีความสวยงาม และใสคล้ายแก้วเมื่อส่องดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์  รูปร่างและลักษระของโครงสร้างภายในของแรดิโอลาเรียนนี้ถือเป็นประติมากรรมชิ้นเยี่ยมของธรรมชาติ ที่ผ่านการคัดเลือกทางวัฒนาการมาเป็นระยะเวลายาวนานนับหมื่นนับล้านปี  และถือเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีความสวยงามมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ซากของแรดิโอลาเรียนได้ถูกสะสมเป็นตะกอนตามท้องมหาสมุทร  เรียกตะกอนเหล่านี้ว่า  radiolarian ooze  ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญทางด้านบรรพชีวินวิทยา  ที่ใช้เป็นดัชนีบ่งชี้ ถึงสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่เกิดขึ้นในอดีต
          การสืบพันธุ์และวงชีวิตของแรดิโอลาเรียนในปัจจุบัน มีผู้ทำการศึกษาและมีความเข้าใจน้อยมาก อย่างไรก็ตาม พบว่าการสืบพันธุ์แบไม่อาศัยเพศในโปรโตซัวกลุ่มนี้ เกิดขึ้นโดยกระบวนการแบ่งออกเป็นสองส่วน


ภาพที่ 1
  แรดิโอลาเรียนกลุ่มอะแคนธาเรีย
         ภาพ a  ลักษณะทั่วไป axopodium (ax); myoneme หรือ myophrise (my); spicule(s)(Grell,1973);
        
ภาพ b  ภาพตัดขวางแสดงโครงสร้างภายในเซลล์ เซลล์แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ endoplasm และectoplasm โดยectoplasm สามารถแบ่งออกได้อีก 2 ชั้นย่อย คือ calymma และ ectoplasmic cortex โครงสร้างส่วนอื่นๆ ได้แก่  axoneme(an); axopodium(ax); central capsule membrane (ccm); digestive vacuole (dv); ectoplasm cortex(ec); filopodium(fp); myoneme หรือ myophrisc(my); mucleus(n); spicule(s);  zooxanthellla(z) (วาดใหม่จาก Bernstein, et al; 1999) 

 
   

แรดิโอลาเรียน
 


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665