โดย  ผศ.สุนันท์ ภัทรจินดา
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
...........................................................................................................................................

      แพลงก์ตอน (plankton) เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญในโซ่อาหารของแหล่งน้ำ  ประกอบด้วยผู้ผลิตและผู้บริโภคลำดับแรกที่สิ่งมีชีวิตในลำดับถัดไปใช้เป็นอาหาร  สำหรับผู้ผลิตในที่นี้ก็คือแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) เปรียบเสมือนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่นำพลังงานจากดวงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการแปรรูปสารอนินทรีย์ให้เป็นสารอินทรีย์ในรูปที่สัตว์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้  กระบวนการที่กล่าวมานี้ก็คือ การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชนั่นเอง  โดยทั่วไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะพบแพลงก์ตอนพืชมีความหลากหลายทั้งในแง่ของชนิดและปริมาณ โดยในแต่ละแหล่งน้ำก็จะมีองค์ประกอบของแพลงก์ตอนพืชแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไปอีกด้วย  กลุ่มเด่นที่พบในแหล่งน้ำจืด คือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue green algae) และสาหร่ายสีเขียว (green algae) และในทะเลคือ ไดอะตอน (diatom) และไดโนแฟลเจลเลท (dinoflagellate) สำหรับในทะเลนั้นไดอะตอมจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญที่สุดในโซ่อาหารซี่งถ้าหากเปรียบเทียบกับพืชบกซึ่งประกอบไปด้วยป่าไม้และทุ่งหญ้า ก็ถือว่าไดอะตอมเป็น "ทุ่งหญ้าแห่งท้องทะเล"  ซึ่งมีความหลากหลายของชนิดและปริมาณสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุล Chaetoceros , Bacteriastrum และ Rhizosolenia  สำหรับสกุล Rhizosolenia  เป็นสมาชิกในกลุ่มเซนทริกไดอะตอม (centric diatom) พบได้ทั่วไปในทะเลซึ่งอาจพบเป็นสกุลเด่นเฉพาะพื้นที่ที่มีผลผลิตสูง มีความใกล้ชิดกับสกุล Guinardia , Pseudosolenia   และ Proboscia  และจากการศึกษาสกุล Rhizosolenia  Brightwell ของ ดร.ซุนด์สตรอม สรุปได้ว่า พบทั่วโลกรปะมาณ 35 ชนิด

      ในปี ค.ศ. 1899  ดร.โจฮันเนส ชมิดส์ ได้ทำการสำรวจบริเวณหมู่เกาะช้าง และเกาะกูด  ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.1902  ดร.ออสเทนเฟลด์  ได้รายงานชนิดของไดอะตอมกลุ่มที่เป็นแพลงก์ตอนพืชทะเล โดยเฉพาะสกุล Rhizosolenia  พบทั้งหมด 14 ชนิด 5 วาไรอิตี้  และปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสกุลและชนิดใหม่ 7 ชนิด 4 วาไรอิสตี้  จากการศึกษาความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืชทะเล ณ บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการการสำรวจเกาะช้าง ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พบสกุล Rhizosolenia 8 ชนิด 2 วาไรอิตี้ คือ R.acuminata (R. temperei var.acuminata) , R.bergonii (R.amputata) , R.clevei var. clevei (R.clevei) , R.clevei var.communis (R.styloformis), R hyalina , R.imbricata (R.Shrubsolii), R.robusta , R.setigera  และ R.striata และ R.striata และอีกชนิดที่เปลี่ยนชื่อสกุลอีก 4 ชนิด คือ Guinardia cylindris (R.cylindrus), G.striata (R.stolterfothii), Pseudosolenia calcar avis (R.calcar avis) และ Proboscia alata (R.alata, var.gracilissima และ R.alata var. indica) ในการศึกษาครั้งนี้พอจะสรุปได้ว่าพบชนิดที่ไม่ปรากฎในรายงานของ ดร.ออสเทนเฟลด์ 1 ชนิด คือ R.striata  และไม่พบชนิดที่มีอยู่ในรายงานอีก 2 ชนิด 1 วาไรอิตี้ คือ R.formosa และ R.styliformis var. latissima


   สนใจติดต่อขอสมัครสมาชิกและขอรับจุลสารได้ที่ : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ สวนจิตรลดา ถนนราชวิถี เขตดุสิต  กรุงเทพ 10303 โทร. 0-2282 1850 , 0-2282 0665