|
โดย อนุสรณ์ ปานสุข
นิสิตปริญญาโท
สาขาวิชาพันธุศาสตร์
ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
........................................................................................................................................... |
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คนไทยยังให้ความสำคัญกันน้อยอยู่
ทั้งที่ในประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในบริเวณที่เหมาะสมต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ
ค่อนข้างสูง
รวมทั้งสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกด้วย
จำนวนของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่สำรวจพบในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ
145 ชนิด
จากจำนวนของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั่วโลกประมาร
4,500 ชนิด
แต่มีผู้ประมาณการจำนวนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในประเทศไทย
คาดว่าน่าจะมีอยู่ถึง 450 ชนิด
หรือคิดเป็น 10%
ของจำนวนสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบทั่วโลก
การที่ยังมีผู้ให้ความสำคัญต่อสัตว์ดังกล่าวน้อย
อาจเป็นเพราะรูปร่างของสัตว์กลุ่มนี้ค่อนข้างแปลก
รวมทั้งวงจรชีวิตและแหล่งที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างลึกลับ
ทำให้คนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงสิ่งมีชีวิตชนิดนี้อย่างลึกซึ้ง
บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายวงจรชีวิตและแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในประเทศไทย
และขั้นตอนการสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
ชนิดนี้เพื่อนำมาศึกษาในห้องปฏิบัติการต่อไป
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
ที่จะแนะนำในบทความนี้มีชื่อภาษาไทยว่า
กบหนอง
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า
Fejervarya
limnocharis
ซึ่งชื่อกบหนองนี้มาจากลักษณะที่อยู่ของสัตว์ชนิดนี้ที่จะพบได้บริเวณที่เป็นแอ่งน้ำขังชั่วคราว
โดยจะอยู่บริเวณขอบบ่อ ที่เป็นดินเลน
หรือบริเวณกลางแอ่งน้ำ
ถ้าแอ่งน้ำนั้นค่อนข้างตื้น
และที่ข้างล่างแอ่งน้ำเป็นดินเลน
แต่สำหรับบางพื้นที่ก็อาจจะเรียกชื่อกบหนองแตกต่างกันไป
เช่น ภาคอีสานเรียกกบชนิดนี้ว่า
เขียดอีโม่
หรืองบางพื้นที่ก็อาจเรียกว่า
เขียดหลังขีด
ซึ่งมาจากสีสันบนลำตัวของกบหนองที่จะมีเส้นขีดกลางหลังขนาดใหญ่พาดผ่านตั้งแต่บริเวณปลายปากจนถึงก้น
แต่กบหนองทุกตัวไม่จำเป็นจะต้องมีขีดกลางหลังเช่นนี้เสมอไป
บางตัวอาจมีขีดขนาดเล็ก
บางตัวอาจมีขีดขนาดใหญ่
หรือบางตัวอาจไม่มีขีดเลยก็ได้
ซึ่งจากการสำรวจร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
(อพ.สธ) ในพื้นที่ต่างๆ เช่น
เกาะพระทอง จังหวัดพังงา
เกาะกาเบง จังหวัดสตูล และอำเภอครบุรี
จังหวัดนครราชสีมา
ทำให้สามารถพบกบหนองได้หลายลักษณะ
จึงจัดได้ว่ากบหนองเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
อีกชนิดหนึ่งที่มีความหลากหลายค่อนข้างสูง
เหมาะแก่การศึกษาความหลากหลายทางด้านพันธุกรรม
สำหรับลักษระทั่วไปของกบหนอง เป็นกบขนาดเล็ก
ขนาดความยาวลำตัวเมื่อโตเต็มที่มีขนาดประมาร
42-56 มิลลิเมตร
ลำตัวสีเขียวมะกอกจนถึงเขียวเข้ม
บริเวณขอบปากล่างมีแถบสีเข้มสลับกับแถบสีขาว
ซึ่งแถบสีเข้มจะมีจำนวน 3-5 แถบ
มีแถบสีเข้มพาดขวางระหว่างตา 2 ข้าง
บนหลังมีจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป
บางตัวมีแถบสีน้ำตาลอ่อนพาดยาวตั้งแต่ปลายปากจนถึงก้น
สามารถเห็นแผ่นปิดใบหู (tympanum)
ได้ชัดเจน
บริเวณแผ่นปิดใบหูจะมีจุดสีดำ
ท้องมีสีขาวครีม
ขามีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดขวาง
ที่อยู่อาศัยจะพบได้ตามที่ราบ
พื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้
และสนามหญ้าตามบ้านเรือน
พบได้ทั่วไปทั้งประเทศไทย
กบชนิดนี้นอกจากจะพบในประเทศไทยแล้ว
ยังพบว่ามีการกระจายตัวตั้งแต่ประเทศอินเดีย
พม่า จีน ไต้หวัน
และประเทศญี่ปุ่นด้วย
สำหรับเทคนิคการสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกนั้น
จะต้องทำในเวลากลางคืนเท่านั้น
เนื่องจากสัตว์ในกลุ่มนี้เป็นพวกที่ออกหากินในเวลากลางคืน
โดยการสำรวจจะเลือกบริเวณพื้นที่ที่มีความน่าสนใจ
เช่น บริเวณแหล่งน้ำต่างๆ
หรือแอ่งน้ำขังที่เกิดจากฝนตกลงมา
ขั้นตอนในการสำรวจอันดับแรก
จะใช้การฟังเสียงร้องเพื่อหาตำแหน่งของกบหนองก่อน
หลังจากที่เรารู้ตำแหน่งคร่างๆ
ของกบหนองแล้ว
จึงจะใช้ไฟฉายเพื่อส่องหาตัว
โดยแสงไฟจะไปกระทบดวงตาของกบทำให้เห็นเป็นวงกลมสีแดง
เมื่อกบเห็นแสงไฟส่องเข้าตาแล้วจะทำให้พวกมันตาพร่าไปชั่วขณะ
และเคลื่อนที่ไม่ได้
เราจึงสามารถเข้าไปจับตัวพวกมันได้
จากการใช้เทคนิคดังกล่าว
การสำรวจจึงควรทำในคืนเดือนมืด
เพราะจะทำให้สามารถเห็นตาของสัตว์ชนิดนี้ที่กระทบแสงไฟได้อย่างชัดเจน
การสำรวจสัตว์ชนิดนี้ควรจะเป็นช่วงที่มีฝนตกและเกิดแอ่งน้ำขังใหม่ๆ
ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม
และช่วงที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว
คือเดือนตุลาคม
จะเป็นช่วงที่จะพบกบหนองได้ง่าย
เหตุผลที่เลือกกบหนองมาใช้ในการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรม
เพราะว่ากบหนองเป็นกบอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ
โดยสามารถใช้เป้นอาหารสำหรับคนได้
นอกจากนั้น
กบหนองยังเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์ชนิดอื่นอีกด้วย
โดยเฉพาะพวกสัตว์เลือดเย็น
ดังนั้นการอนุรักษ์กบชนิดนี้ไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ระบบนิเวศทางธรรมชาติยังคงความสมดุลอยู่ได้
ที่สำคัญที่สุด
กบชนิดนี้มีลักษณะรูปร่างภายนอกหลายแบบแตกต่างกันไป
จากการสำรวจสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
เพื่อศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้น
จะเห็นได้ว่ายังมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกหลายชนิด
ทีเรายัมีข้อมูลด้านต่างๆ
อยู่จำนวนน้อย
ทั้งที่ประเทศไทยถือว่ามีสัตว์ในกลุ่มดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นเราควรจะต้องเร่งศึกษาหาข้อมูลของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดต่างๆ
เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาความหลากหลาย
และเป็นการอนุรักษ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกเหล่านี้ไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์จากแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ
ลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของกบหนอง
ลักษณะของกบหนองที่แตกต่างกัน
|