|
|
ลาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
:
Corypha lecomtei Becc.
วงศ์
: Palmae
ชื่อสามัญ
:
ชื่ออื่น
: ลานป่า |
|
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นพวกปาล์มที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงมากชนิดหนึ่ง
มีการเจริญเติบโตช้ามาก ลำต้นจะตรงขึ้นไปสูง 15-20 เมตร ชอบขึ้นเป็นดงใหญ่ๆ
เป็นกลุ่มโดยเฉพาะตามที่ราบระหว่างหุบเขาที่ชุ่มชื้นและมีหินปูนเป็นหินชั้นล่าง
เช่น ที่ป่าดงลาน จังหวัดขอนแก่น และป่าลานอำเภอกบินทร์บุรี
จังหวัดปราจีนบุรี ใบ รูปพัดขนาดใหญ่มาก กว้างถึง 3 เมตร
ประกอบไปด้วยใบย่อยที่มีก้านแข็งมาก ประมาณ 3 ใน 4
นับจากโคนใบจะติดกันเป็นพืด ก้านใบใหญ่และแข็งมากยาวถึง 3 เมตร
ด้านบนแบนหรือเป็นร่องแบบรางน้ำและขอบมีหนามแหลมคม
โคนก้านขยายกว้างโอบกอดลำต้นเกือบรอบ ผิวตามท้องก้านมีเส้นใยเหนียวมาก
ในขณะใบอ่อน ใบย่อยจะพับรวมกันแน่นเป็นรูปหอกเรียวแหลม และมีขุยสีน้ำตาลแดงตามก้านใบย่อยบ้าง
พอใบแก่จะขยายคลี่ออกเป็นรูปดังกล่าว ดอก เล็ก
สีขาวอยู่บนช่อที่มีกิ่งแขนงมากมาย แขนงล่างๆ จะยาว และจะค่อยๆ
สั้นลงจนถึงยอดช่อ จึงดูรูปช่อคล้ายรูปกรวยคว่ำหรือปิระมิดที่สูงถึง 5 เมตร
และกล่าวว่า ช่อหนึ่งๆ มีดอกถึง 60 ล้านดอก
ในระยะที่ออกดอกนี้ใบลานจะลู่หุบลง และค่อยๆ ล่วงหล่นไปหมดในที่สุด
ดอกลานเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วย
ปลายแยกเป็นแฉกมนๆ 3 แฉก กลีบดอกมี 3 กลีบ และขอบกลีบจะเกยทับกัน
เกสรผู้มี 6 อัน รังไข่เป็น 3 พู ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง ผล กลมหรือป้อม
ออกดอกเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม |
ประโยชน์ : ผลอ่อนเนื้อหนา
ใช้เชื่อมน้ำตาลรับประทานได้เหมือนลูกชิด ช่ออกมีน้ำตาลมาก
อาจทำน้ำตาลได้เช่นเดียวกับมะพร้าว ตาล และต๋าว หรือ ชก
ในประเทศไทยมีลานขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ 2 ชนิด
ในท้องที่ป่าทางภาคใต้นั้นมีชนิด C.elata Roxb.
ชาวประมงในแถบนี้ใช้ใบทำใบเรือกันบ้าง
ใบอ่อนใช้ในการอุตสาหกรรมทำลานสำหรับจารหนังสือ ทำหมวกและงอบ เครื่องจักสาน
เครื่องเล่นของเด็ก ส่วนลานที่ปลูกตามวัดทั่วๆไปนั้น เป็นชนิด
C.umbraculifera L.
มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดียตอนใต้ และลังกา ต้นสูงถึง 20-30 เมตร |
|
ที่มาของข้อมูล : ศ. เต็ม สมิตินันท์
หนังสือพันธุ์ไม้ป่าเมืองไทย , กรมป่าไม้ |
|