ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : พืชตระกูลปาล์ม
ลำต้นใต้ดินเลื้อยไปตามผิวดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 25-30 เซนติเมตร ใบ
เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดใหญ่ลักษณะชูตั้งขึ้นมา ยาว 4-5 เมตร
ประกอบด้วยก้านใบลักษณะหนาและแข็ง ยาว 80-150 เซนติเมตร ใบย่อยเกิดสลับ 2
ด้าน เรียงตัวแบบขนนก แผ่นใบย่อยกว้าง 4-8 เซนติเมตร ค่อนข้างจะขอบขนาน
ส่วนปลายใบย่อยจะเรียวแปลม ดอก เกิดที่ซอกมุมใบ ก้านช่อดอกยาว 80-100
เซนติเมตร มีขุยขนขึ้นคลุมและหลุดร่วงง่าย ดอกเป็นกระจุกมีจำนวนมาก
สีน้ำตาลแกมแดง ดอกเกิดอยู่รอบก้านดอก ก้านดอกสั้นมาก
ลักษณะเป็นกระปุกกลมคล้ายทะลายระกำ ผล มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมพู
ด้านโคนขั้วผลจะเล็กสีขาวครีมหรือขาวอมชมพู เพราะมีการอัดตัวของผลแน่น
ส่วนด้านปลายผลมีขนาดโตกว่าและมน สีน้ำตาลถึงน้ำตาลแดง ขนาดของผลกว้าง 5-8
เซนติเมตร ยาว 10-12 เซนติเมตร เมื่อผลสุกจะมีสีน้ำตาลแกมดำหรือน้ำตาลคล้ำ
มีกลิ่นหอม การขยายพันธุ์ โดยการใช้เมล็ดที่แก่จัด หรือการแยกหน่อ
นิเวศวิทยาและการแพร่กระจาย พบในเขตร้อน
บริเวณชายฝั่งทะเลที่ราบลุ่มหรือบริเวณลุ่มแม่น้ำใกล้ทะเล
ประโยชน์ : ทางอาหาร ใช้เนื้อเมล็ด
ขณะยังไม่แข็งนำมารับประทานเป็นอาหารว่าง หรือนำมารับประทานเป็นของหวาน
ผลอ่อน ใช้เป็นผักเคียง รับประทานกับแกงเผ็ดหรือขนมจีน
หรือนำผลอ่อนมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ขยำกับเกลือ 2-3 ครั้ง ล้างให้สะอาด
นำไปแกงคั่ว แกงกะทิหรือยำ ทางสมุนไพร ใบ มีรสฝาด แก้เสมหะ ดับพิษ
แก้ถ่ายท้อง แก้ลมจร นมจาก
หรือปุ่มที่งอกจากโคนของก้านใบ มีรสฝาด กร่อย แก้ลม แก้ท้องเสีย
แก้พิษตานซางลิ้น สมัยก่อนใบนิยมใช้เป็นใบจากมวนยาสูบ ในทางจักสาน
ใบนำมาจักสานใช้ในครัวเรือน เช่น มุงหลังคา ตะกร้า
ทะลายอ่อนชาวบ้านตัดส่วนของดอกทิ้ง แล้วใช้ภาชนะรองรับน้ำหวาน นำไปทำน้ำตาล
หรือหมักเป็นน้ำส้มสายชู ใช้แกงส้มหรือใช้แทนมะนาว หรือส้มอื่นๆ
เก็บไว้ใช้ได้นาน |