ย้อนกลับ
หน้า 1 2
ละหุ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ricinus communis L. วงศ์ : Euphorbiaceae ชื่อสามัญ : Castor Bean, Castor oil, Palma-christi ชื่ออื่น : มะโห่ง, มะโห่งหิน (ภาคเหนือ), ปี่มั้ว (จีน)
ลักษณะ : ไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว รูปผ่ามือกว้างและยาว 15-30 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด แยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู เปลือกเมล็ดสีน้ำตาล มีหลายชนิด ขึ้นกับพันธุ์ละหุ่ง ประโยชน์ : ละหุ่งไม่ใช่พืชอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดหรือน้ำมันที่สกัดได้ แต่น้ำมันละหุ่งสามารถใช้รับประทานได้หลังจากผ่านกรรมวิธีเพื่อทำลายสารที่เป็นพิษด้วยความร้อน ตัวอย่างเช่น น้ำมันละหุ่งที่ใช้ในการประกอบยา วัตถุประสงค์ในการปลูกละหุ่งก็เพื่อใช้สกัดน้ำมัน และใช้กากหลังจากสกัดน้ำมันกับทำลายสารพิษแล้ว ( pomace หรือ meal ) เลี้ยงสัตว์ จากผลทดลองปรากฎว่า กากละหุ่งมีคุณค่าทางเป็นอาหารสัตว์พอๆ กับพวกอาหารโปรตีนอื่นๆ ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ น้ำมันละหุ่งจัดอยู่ในพวกที่ไม่ระเหย (non-drying type) และสามารถแปรรูปโดยกรรมวิธีทางเคมีได้ มีความหนืด (viscosity) ที่คงที่ในสภาพอุณหภูมิสูง เป็นประโยชน์ในการใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นได้อย่างดี น้ำมันละหุ่งซึ่งผ่านกรรมวิธีทางเคมีแล้ว อาจใช้ในการผสมสี และน้ำมันชักเงา น้ำมันละหุ่งและน้ำมันอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันใช้เป็นน้ำมันไฮโดรลิค (hydraulic) ต่างๆ ทำพลาสติค เครื่องสำอาง ผงซักฟอก ไนลอน และใยสังเคราะห์อื่นๆ ยูรีเธน (urethane) และยาถ่ายสำหรับมนุษย์และสัตว์ สรรพคุณทางสมุนไพร ใบ - เป็นยาขับน้ำนม แก้ช้ำรั่ว (อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่) ราก - สุมไฟให้เป็นถ่าน ใช้เป็นยาแก้พิษ แก้ไข้เซื่องซึม ขณะเดียวกัน เมล็ดละหุ่งก็มีพิษต่อคน สัตว์ และแมลง โดยสารพิษที่สำคัญคือ ricin และ ricinus communis agglutinin (RCA) สารพิษทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดพิษที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ricin เป็นพิษมากต่อเซล (cytotoxic) แต่ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มน้อย (hemagglutinin) ส่วน RCA ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกันมาก แต่เป็นพิษต่อเซลน้อย อย่างไรก็ตาม หลักฐานการเกิดพิษของเมล็ดละหุ่ง เกิดจาก ricin ไม่ใช่ RCA เนื่องจาก RCA ไม่ถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุทางเดินอาหาร และการทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกัน เกิดเฉพาะเมื่อได้รับสัมผัสโดยการฉีดเข้าเส้นเลือดเท่านั้น