ย้อนกลับ

หน้า  1  2   

 

 




















































 
 

ถั่วเหลือง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glycine max  (L.) Merr.
วงศ์ :  
Leguminosae
ชื่อสามัญ : Soybean

ชื่ออื่น ถั่วพระเหลือง  ถั่วแระ  ถั่วเหลือง (ภาคกลาง)  มะถั่วเน่า(ภาคเหนือ)   อึ่งตั่วเต่า  เฮ็กตั่วเต่า

 

ลักษณะ :  เป็นพืชล้มลุก ราก ถั่วเหลืองมีระบบรากแก้ว (tap root system) ถ้าดินร่วน รากแก้ว อาจหยั่งลึกถึง 0.50-1.00 เมตร ก็ได้ แต่ถ้าผิวดินตื้นจะสังเกตเห็นรากแก้วไม่ชัดเจน และทำให้มีรากแขนง (lateral root) มากขึ้น โดยทั่ว ๆ ไประบบรากจะอยู่ในความลึกเพียง 30-45ซม. จากระดับผิวดินเท่านั้น ตามรากจะพบปม (nodule) ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียพวก Rhizobium japonicum เข้าไปอาศัยอยู่ แบคทีเรียจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากต้นถั่วเหลือง และถั่วเหลืองก็จะได้ไนโตรเจนในรูปไนเตรตที่แบคทีเรียตรึงได้จากอากาศไปใช้ประโยชน์ต่อไป การอยู่อาศัยของแบคทีเรียที่รากเรียกว่าเป็นแบบชีวสัมพันธ์ (symbiosis) หรือพึ่งพาอาศัยกัน ลำต้น ถั่วเหลืองที่ปลูกกันเป็นการค้า ส่วนมากมีลำต้นตรงเป็นพุ่มตรง มีการแตกแขนงค่อนข้างมาก สูงประมาณ 30-150 ซม. ความสูงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้นและฤดูปลูก อาจแบ่งถั่วเหลืองออกได้เป็น 2 พวกตามวิธีการเจริญเติบโตคือ
ก. ชนิดทอดยอด (Indeterminate type) พวกนี้ช่อดอกไม่เกิดที่ยอดของลำต้น (main stem) แต่เกิดตามมุมใบ จึงทำให้ยืดการเจริญของยอดถั่วไปได้อีกระยะหนึ่ง ภายหลังจากมีการออกดอกแล้ว พันธุ์พวกนี้จะมีปลายเรียว ยาว ทำให้ต้นหยุดเจริญเติบโตเมื่อเริ่มติดฝัก
ข. ชนิดไม่ทอดยอด (Determinate type) พวกนี้ช่อดอกเกิดที่ยอดของลำต้นเป็นกลุ่ม
ถั่วเหลืองส่วนมากมีขนสีน้ำตาลหรือสีเทา ปกคลุมอยู่ทั่วไป เช่น ตามลำต้น ก้านใบ ใบ กลีบเลี้ยง ผล ยกเว้นที่ใบเลี้ยงเท่านั้นที่ไม่มีขน ระหว่างมุมของใบเลี้ยงหรือใบจริงจะพบตา (bud) ซึ่งจะเจริญเป็นกิ่ง ดอก หรืออยู่ในระยะพักตัว (dormant) ก็ได้ ถ้าถั่วเหลืองกำลังเจริญเติบโต ตานี้มักจะเกิดเป็นกิ่ง แต่ถ้าใช้ระยะปลูกแคบ ตาจะพักตัว ถ้าใช้ระยะปลูกกว้างก็อาจมีกิ่ง 5-6 กิ่ง/ต้น ส่วนใหญ่ตาที่มุมใบเลี้ยงไม่เจริญ นอกจากลำต้นที่อยู่เหนือใบเลี้ยงได้รับอันตราย เช่น ถูกแมลงกัด ตาที่มุมใบเลี้ยงจึงจะแตกออกเป็นลำต้นใหม่ ใบ ใบเกิดแบบสลับ (alternate) บนลำต้น ยกเว้นใบเลี้ยง (cotyledon) และใบจริงคู่แรก (primary leaf) ของต้นอ่อนเท่านั้นที่เกิดตรงข้ามกัน ใบจริงคู่แรกเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) แต่ใบที่เกิดต่อ ๆ มาเป็นใบรวม (compound leaves) ใบมีขนาดรูปร่างต่าง ๆ กัน มักเป็นแบบ pinnately trifoliate คือ มีใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบรวม (petiole ยาว 5-10 ซม.) ก้านของใบย่อย (petiolule) ของใบกลางยาวกว่าก้านของใบย่อยอีก 2 ใบ ตรงโคนก้านใบทุกชนิดมีข้ออ่อนเรียก pulvinus ใบมีรูปร่างหลายแบบเช่นรูปไข่ (ovate) จนถึงเรียวยาว (lanceolate) ใบมีขนสีเทาหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั่วไป ที่โคนของใบย่อยมีหูใบย่อย (stipel) และที่โคนก้านใบจะมีหูใบ (stipule) พันธุ์ส่วนมากใบจะร่วงเมื่อผลเริ่มแก่ เมื่อผลแก่เต็มที่ใบจะร่วงหมด มีบางพันธุ์เท่านั้นที่ไม่สลัดใบเมื่อผลแก่เต็มที่
ดอก ถั่วเหลืองมีดอกเป็นช่อ (inflorescence) มีช่อดอกแบบ raceme ดอกมีสีขาวหรือสีม่วง สีขาวเป็นลักษณะด้อย (recessive) เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 3-8 มม. ดอกเกิดตามมุมของก้านใบหรือที่ยอดของลำต้นดังได้กล่าวมาแล้ว ช่อดอกหนึ่ง ๆ มีดอกตั้งแต่ 3-15 ดอก ช่อดอกที่เกิดบนยอดของลำต้น มักจะมีจำนวนดอกในช่อมากกว่าช่อดอกที่เกิดตามมุมใบ
ส่วนของดอกมีดังนี้
1. ก้านช่อดอก (peduncle) และก้านดอกย่อย (pedicel)
2. กลีบเลี้ยง (bracteole) อยู่นอกสุด สีเขียว สั้น มี 2 กลีบ มีขนปกคลุม
3. กลีบรอง (calyx) อยู่ชั้นถัดจากกลีบเลี้ยง ฐานติดกัน มี 5 แฉก
4. กลีบดอก (corolla หรือ petal) มี 5 กลีบ คือ standard (หรือ
banner) petal 1 กลีบ, wing petal 2 กลีบ และ keel petal 2 กลีบ
5. ดอกตัวผู้ (stamen) มีก้านชูอับเรณู (anther) 10 อัน (ติดกัน 9 อัน แยก 1 อัน เรียกว่าเป็นการจัดแบบ (diadelphous)
6. ดอกตัวเมีย (pistil) มีที่รองรับอับเรณูเรียก stigma และก้านเรียก style ส่วนบน ส่วนล่างที่ฐานมีรังไข่(ovary) ซึ่งมีไข่ (ovule) 1-4 อัน
ฝัก ฝักเกิดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-10 ฝัก มีขนสีเทาหรือสีน้ำตาล ปกคลุมอยู่ทั่วไป ฝักมีความยาว 2-7 ซม. แต่ละฝักมีเมล็ด 1-5 เมล็ด แต่ส่วนใหญ่มี 2-3 เมล็ด เมื่อสุกฝักจะมีสีน้ำตาล ฝักอาจแตกซึ่งทำให้เมล็ดร่วง
เมล็ด เมล็ดมีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน เมล็ดขนาดเล็กจำนวน 100 เมล็ดหนักราว 2 กรัม ขนาดใหญ่ 100 เมล็ดหนักกว่า 40 กรัม โดยทั่วไปหนัก 12-20 กรัม รูปร่างมีตั้งแต่กลมรีจนถึงยาว อาจมีสีเหลือง เขียว น้ำตาล และดำก็ได้
ประโยชน์ : ถั่วเหลือง เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกและของประเทศไทย เมล็ดถั่วเหลืองประกอบด้วยโปรตีน (30-50 %) น้ำมัน (13-24 %) และยังมีคาร์โบไฮเดรท (12-24 %) ดังนั้นถั่วเหลืองจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิเช่น ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ ทั้งในรูปของการบริโภคโดยตรงหรือแปรรูปเป็นอาหารต่าง ๆ หรือใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ส่วนกากถั่วเหลืองยังใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ นอกจากนี้แล้วการปลูกถั่วเหลืองยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากมีไรโซเบียมอาศัยอยู่ในปมที่ราก ทำให้สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้