|
|
หิ่งเม้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Crotalaria
pallida Aiton.
วงศ์ : Leguminosae - Papilionoideae
ชื่อสามัญ :
-
ชื่ออื่น :
หิ่งเม่น (เชียงใหม่)
; ฮ่งหาย (ชุมพร)
ลักษณะ :
เป็นพืชล้มลุก
(annual) ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งย่อย ต้นสูง 98.74-125.48 เซนติเมตร
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 9.06-17.4 มิลลิเมตร
การเรียงตัวของใบประกอบแบบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ (trifoliate-pinnately)
รูปร่างใบย่อยแบบรูปไข่กลับ (obonate) โคนใบสอบ ปลายใบโค้งเว้าบุ๋ม (retuse)
ปลายยอด (apex) มีติ่งเป็นเส้นสั้น ๆ หน้าใบไม่มีขน
หลังใบมีขนสีขาวปกคลุมหนาแน่น สีใบเขียวเข้ม
ด้านหลังใบสีเขียวอ่อนกว่าหน้าใบ ผิวใบค่อนข้างนุ่ม เส้นใบ (vein)
ปลายโค้งจรดกัน (anastomosing) ขอบใบหยักแบบขนครุย (ciliate) หูใบแหลม (filiform)
เล็กสั้นสีม่วงแดง ก้านใบรวมยาว 3.88-4.54 เซนติเมตร ก้านใบข้างยาว 2-2.5
มิลลิเมตร ก้านใบมีขนละเอียดคลุมหนาแน่น ลำต้นสีเขียว มีสีน้ำตาลอ่อน ๆ
ด้านที่รับแสงและมีขนละเอียดคลุมอย่างหนาแน่น ออกดอกเดือน เมษายน-ธันวาคม
ดอกออกที่ปลายยอดแบบช่อกระจะ (raceme) ชูขึ้น ช่อดอกยาว 12.23-19.21
เซนติเมตร ดอกรูปดอกถั่วมี 27-44 ดอกต่อช่อ
ดอกเดี่ยวเรียงตรงกันข้ามกันบนแกนช่อดอก และมีก้านยาว 2-2.5 มิลลิเมตร
กลีบดอกด้านในสีเหลืองเข้ม
กลีบดอกด้านนอกสีเหลืองมีลายเส้นสีม่วงแดงผ่านตามยาว
ฝักรูปทรงกระบอกโค้งงอออกเล็กน้อย ปลายยอดฝักมีติ่งเป็นเส้นยาวประมาณ 7
มิลลิเมตร เส้นกลางฝักด้านนอกเป็นแนวยาวลึกลง ฝักยาว 3.65-4.11 เซนติเมตร
กว้าง 0.64-0.74 เซนติเมตร มี 7-16 ฝักต่อช่อ ฝักอ่อนสีเขียว
ฝักแก่สีน้ำตาลดำมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ฝักแก่แตก
ประโยชน์ : เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ
ของโค-กระบือ ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ราก ฝนน้ำกินครั้งละ 1 ถ้วยตะไล
แก้อาเจียน ชาวเขาเผ่าแม้วและมูเซอ ใช้รากต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ
แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะ (วงศ์สถิตย์ และคณะ, 2539) |
|