เกาลัด
Sterculia monosperma Vent., STERCULIACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 4-30 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกเรียบหรืออาจแตกเป็นร่องเล็กๆ ไปตามยาวลำต้น กิ่งอ่อนเกลี้ยง มีรอยแผลใบอยู่ทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงเวียนกันบริเวณใกล้ๆ ปลายกิ่ง รูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง 5-15 ซม. ยาว 10-30 ซม. โคนมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย ปลายมนสอบแคบกว่าทางโคนใบ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา เกลี้ยง ย่นเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนเป็นมัน เส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ส่วนด้านบนมีสีเข้มตามแนวเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบตัดกับสีพื้นของแผ่นใบ ก้านใบยาว 2-10 ซม. เมื่อแห้งสีชมพูเรื่อๆ และมักหักทำมุมกับเส้นกลางใบเล็กน้อย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งและเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 35 ซม. ห้อยลง มีช่อแขนงมาก ดอกเล็ก สีชมพูอมเขียว กลิ่นหอมอ่อนๆ รูปคล้ายโคมเล็กๆ ด้านนอกมีขนประปราย เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาวไม่เกิน 1 ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกัน ปลายผายออกเป็นรูปกรวย แล้วแยกเป็นแฉกยาว 5 แฉก แต่ละแฉกโค้งงุ้มและติดกันบริเวณปลายกลีบ และจะแยกเป็นอิสระพร้อมๆ กับกลีบจะบิดเบี้ยวเมื่อดอกใกล้โรย ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ รังไข่มี 5 พู มีขนแน่น ผลออกรวมกันเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มย่อยมักมี 2 ผล ก้านช่อยาวถึง 20 ซม. ผลสีแดงหรือสีแสด รูปมนหรือค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. เปลือกแข็ง มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ เปลือกเป็นคลื่นไปตามรูปเมล็ดที่อยู่ภายใน ปลายผลมักเป็นจะงอยโค้งเล็กน้อย ผลแก่จะแตกออกตามรอยประสานด้านข้าง ก้านผลเห็นไม่ชัด เมล็ดสีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : ปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารในหลายประเทศ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : พรรณไม้นำเข้ามาจากประเทศจีน ปลูกในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคกลาง


สภาพนิเวศน์ : -


เวลาออกดอก : เดือนกันยายน-เมษายนของปีถัดไป


เวลาออกผล : เดือนกันยายน-เมษายนของปีถัดไป


การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.