กำลังช้างสาร
Beaumontia murtonii Craib, APOCYNACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ตามลำต้นและกิ่งก้านมีช่องอากาศเป็นจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป มีน้ำยางขาว เปลือกนอกสีเทา ปลายกิ่งมีรอยแผลใบและมีขนสีน้ำตาลแดง ขนจะค่อยๆ ร่วงไปเมื่อกิ่งแก่ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกกลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 9-12 ซม. ยาว 17-20 ซม. ใบตอนบนที่ใกล้จะถึงช่อดอกขนาดเล็กกว่า กว้างประมาณ 4 ซม. ยาวประมาณ 13 ซม. ปลายเป็นติ่งแหลมเล็กน้อย โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ 13-16 เส้น ปลายเส้นจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบและเห็นได้ชัด ก้านใบยาวประมาณ 1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวประมาณ 13 ซม. ดอกใหญ่สีขาว กลิ่นหอมอ่อนๆ รูปกรวยปากผาย เส้นผ่านศูนย์กลาง 11-12 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 2 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกกัน กลีบชั้นนอก 2 กลีบ ยาวและเป็นคลื่น กว้างประมาณ 1.7 ซม. ยาวประมาณ 3.3 ซม. สีเขียวอ่อนขลิบเขียวเข้มที่ขอบ ส่วนอีก 3 กลีบที่อยู่ชั้นในสั้นกว่า สีเหลืองอมเขียวอ่อน กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดแคบๆ ยาวประมาณ 2 ซม. แล้วผายออก ปลายกลีบแยกกัน กว้างยาวประมาณ 3 ซม. ปลายแหลม เกสรเพศผู้ 5 อัน โคนก้านชูอับเรณูติดกับผนังกลีบดอก ยาวประมาณ 3.5 ซม. อับเรณูเป็นรูปเงี่ยงลูกศร ยาวประมาณ 1.3 ซม. และทั้ง 5 อันประกบกันโอบเกสรเพศเมีย ฝักรูปทรงกระบอก 2 ฝัก โคนติดกัน แต่ละฝักเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9 ซม. ยาวประมาณ 28 ซม. เมื่อแก่จะแตกด้านเดียว เมล็ดยาวประมาณ 1 ซม. หัวท้ายรี ตอนบนคอด บริเวณที่คอดมีขนเป็นพู่สีขาว ยาวประมาณ 2.5 ซม.


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : กัมพูชา ลาว เวียดนาม ภูมิภาคมาเลเซีย


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : อุดรธานี, ประจวบคีรีขันธ์, กรุงเทพมหานคร, ปราจีนบุรี, ชลบุรี


สภาพนิเวศน์ : ป่าเบญจพรรณ


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล : -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
2) Santisuk, T. and Larsen, K., eds. 1999. Flora of Thailand (Vol.7: 1). Bangkok. Diamond Printing.