ก่วม
Acer oblongum Wall. ex DC., ACERACEAE


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 20-25 ม. โคนต้นเป็นพอน เปลือกสีเทาแกมน้ำตาล เปลือกนอกค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาวเล็กน้อย เปลือกในสีชมพู มีน้ำเลี้ยงใสรสเฝื่อน กิ่งอ่อนมีขนประปราย ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง 3-7 ซม. ยาว 9-16 ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบไม่แยกเป็นแฉก เส้นแขนงใบข้างละ 4-6 เส้น คู่ล่างสุดออกจากโคนใบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างมีคราบสีขาวหรือสีเงิน ใบอ่อนมีขนสีขาวประปราย ขนร่วงง่าย ใบแก่เกลี้ยง ก้านใบยาว 2.4-7 ซม. ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงสั้นๆ ออกที่ปลายกิ่งพร้อมกับใบ ยาว 4-8 ซม. มีขนประปราย แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกสมบูรณ์เพศ เมื่อบานเต็มที่กว้าง 6-8 มม. สีเหลืองอมเขียว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 2-3 มม. กลีบดอกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาว 3-4 มม. โคนกลีบดอกกว้าง ไม่มีก้านกลีบดอก เกสรเพศผู้ 8 อัน ติดอยู่ภายในจานฐานดอกยาวพ้นรังไข่เล็กน้อย รังไข่มีขนยาวหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 2 อันลงมาเกือบถึงรังไข่ ผลออกเป็นช่อ มีจำนวนมาก แต่ละผลติดกันเป็นคู่ที่ส่วนฐาน ตัวผลเป็นเหลี่ยม กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 7 มม. ผนังด้านนอกมีขนเล็กน้อยหรือค่อนข้างเกลี้ยง ผนังด้านในมีขนยาวหนาแน่น ส่วนบนเป็นปีกแข็ง กว้าง 0.8-1.5 ซม. ยาว 2-4 ซม. ปลายปีกมน กว้างที่สุดตรงกลาง โคนปีกตรงส่วนที่ติดกับตัวผลคอดเว้า ขนาดแคบกว่าความกว้างของผล ปีกทั้งคู่จรดกันหรือถ่างออกเล็กน้อยคล้ายรูปเกือกม้า


ถิ่นกำเนิด : -


การกระจายพันธุ์ : เทือกเขาหิมาลัยตะวันออก จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนามตอนเหนือ


การกระจายพันธุ์ในประเทศไทย : ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้


สภาพนิเวศน์ : ขึ้นตามป่าดิบเขาหรือป่าดิบแล้งใกล้ลำธาร บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,300 ม. ขึ้นได้ทั้งบนภูเขาหินทรายและภูเขาหินปูน


เวลาออกดอก : -


เวลาออกผล: -


การขยายพันธุ์ : -


ความเกี่ยวข้องกับประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ : -


อ้างอิง : 1) ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.