พรรณไม้บริเวณป่ายางนา

 

 

     

ป่ายางนาในสวนจิตรลดา
          ในบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าไม้สาธิตข้าพระตำหนักเรือนต้น จะปลูกพื้นที่ป่าไม้แน่นทึบเขียวชอุ่ม มีต้นไม้สูงใหญ่เรือนยอดชิดติดกันและมีไม้ชั้นล่างหนาแน่นคล้ายกับป่าธรรมชาติ พื้นที่นี้เมื่อเริ่มแรกเป็นที่พื้นที่ปลูกไม้ยางนาโดยเฉพาะ
          ในฤดูร้อนเกือบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกเสด็จฯ โดยทางรถไฟ ต่อมาเสด็จฯ โดยรถยนต์เมื่อมีการปรับปรุงถนนเพชรเกษมดีขึ้น  เส้นทางเสด็จฯ ผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สองข้างทางมีต้นยางนาสูงใหญ่ขึ้นเป็นกลุ่มตามธรรมชาติอยู่มากมาย จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนาบริเวณนี้ไว้ให้เป็นสวนสาธารณะ แต่ไม่สามารถดำเนินการจัดถวายตามพระราชประสงค์ได้ เพราะมีราษฎรถือครองพื้นที่ทำสวน ทำไร่ ในบริเวณนั้นมาก และจะต้องใช้จ่ายเงินทดแทนสูงมากในการจัดหาพื้นที่ใหม่
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า " ไม้ยางนาในประเทศไทยได้ถูกตัดฟันไปใช้สอยและทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่าหากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริมและดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้ว ปริมาณไม้ยางนาก็จะลดน้อยลงไปทุกปี จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ " และโดยที่ยังมิได้มีผู้ใดดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนอย่างจริงจังแต่อย่างใด จึงได้ทรงเพาะเมล็ดยางนาลงในกระถางต้นไม้บนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนานั้นในแปลงโครงการป่าสาธิตในสวนจิตรลดา พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพาร คณาจารย์ และนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมปลูกต้นยางนา จำนวน ๑,๒๕๐ ต้น กล้าไม้ยางนาที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่ได้มาจากเมล็ดต้นยางนาที่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเก็บมาจากป่ายางนาสองฟากถนนเพชรเกษม อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๔ แล้วนำมาเพาะไว้ใต้ร่มต้นแคบ้าน และในแปลงเพาะชำในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อเมล็ดงอกได้ย้ายปลูกลงในกระถางดิน กล้าไม้ยางนาที่ย้ายลงปลูกในแปลงโครงการปลูกป่า (ป่ายางนา) มีอายุประมาณ ๔ เดือน ระยะห่างระหว่างต้น ๒.๕ เมตร ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดำเนินการสนองพระราชดำริจัดตั้งแปลงทดลองศึกษาวิจัยการปลูกไม้ยางนาขึ้นในบริเวณนี้
 

          นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ กาลเวลาที่ผ่านไป ๓๔ ปี ได้ทำให้แปลงทดลองปลูกไม้ยางนาในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา เปลี่ยนสภาพเป็นป่าไม้ยางนาอันร่มรื่นคล้ายป่าธรรมชาติ จากการสำรวจเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๔ พบว่ามีไม้ยางนาเหลืออยู่ทั้งหมด ๔๕๓ ต้น ในพื้นที่ป่ายางนาประมาณ ๕ ไร่ สำหรับไม้ยางนา เมื่อมีอายุระหว่าง ๕-๑๐ ปี ไม้มีการขุดย้ายออกไปปลูกในบริเวณอื่นๆ เพื่อขยายระยะห่างระหว่างต้น โดยนำไปปลูกตามขอบสนามและริมถนนบริเวณสวนจิตรลดา กับได้พระราชทานแก่ผู้ที่ขอมาเพื่อนำไปปลูกในสถานที่ต่างๆ เช่น ในวัด เป็นต้น
          โดยพื้นที่ป่ายางนาในสวนจิตรลดาเป็นที่ลุ่มต่ำ พื้นดินจึงมักชุ่มน้ำในช่วงฤดูฝน ทำให้มีต้นข่อย ขึ้นแทรกอยู่ตามธรรมชาติทั่วไป นอกจากนี้บริเวณป่ายางนายังเป็นสวนรวมพันธุ์นอกถิ่นของพรรณไม้ที่มีคุณค่าบางชนิดของโครงการส่วนพระองค์ฯ ได้แก่ หวาย และพริกไทยพันธุ์ต่างๆ นอกจากนี้พรรณไม้ป่าอีกหลายชนิดที่นำมาปลูกเพิ่มเติม เช่นหว้า ไทรและมะเดื่อชนิดต่างๆ อันเป็นแหล่งอาหารของนกนานาชนิด พรรณไม้แหล่งอาหารนกที่กล่าวถึง จะพบปลูกอยู่ทั่วไปในสวนจิตรลดา ตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 

หน้าหลัก ประวัติความเป็นมา จิตรลดาพฤกษาพรรณ โครงการส่วนพระองค์