กฤษณา
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Aquilaria crassna
Pierre ex H. Lecomte
วงศ์ :
THYMELAEACEAE
ชื่อสามัญ
: Eagle wood
ชื่ออื่น : ไม้หอม
(ภาคตะวันออก)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ
10-20 เมตร ทรงพุ่มโปร่ง ใบ เป็นใบเดี่ยว
เกิดเรียงกันแบบสลับ
ลักษณะใบเป็นรูปไข่หรือรูปร่างยาวขอบขนาน ขนาดกว้าง
2.5-3.5 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบและโคนใบแหลม
ผิวใบแก่เกลี้ยงเป็นมัน
ส่วนใบอ่อนที่ผลิใหม่มีขนสั้นวาว ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ
เกิดที่ยอดหรือที่ง่ามใบ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 5
กลีบ เชื่อมติดกันที่โคน ปลายแยกเป็น 5 แฉก
ด้านในของกลีบเลี้ยงปกคลุมด้วยขนสั้น
กลีบดอกลดรูปลงเกิดเป็นเกล็ดขนาดเล็ก เกสรผู้ 10 อัน
ก้านเกสรผู้สั้น ส่วนรังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นๆ ของดอก
ไม่มีก้านหรือมีแต่สั้น ปลายยอดเกสรตัวเมียใหญ่
ดอกออกประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม
ผลรูปทรงเกือบกลม เมื่อแก่จะแตกครึ่งตามรอยคอดของผล
ด้านในผลมีส่วนแข็งคล้ายไม้ฉาบอยู่
และมีเมล็ดที่มีหางยาวแหลม 1-2 เมล็ด
ส่วนที่มีกลิ่นหอมคือส่วนของเนื้อไม้ที่มีสีน้ำตาลดำ
เนื่องจากเกิดการสะสมของสารหอมระเหย
พบในเขตร้อนชื้นระดับความสูง 200-700 เมตร
จากระดับน้ำทะเล
ในประเทศไทยพบตั้งแต่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
ประโยชน์
: ใช้จากต้นที่เกิดแก่นกฤษณาแล้ว
โดยนำเนื้อไม้ไปใช้เผาเพื่อให้เกิดกลิ่นหอมในพิธีทางศาสนา
ส่วนน้ำมันกฤษณาใช้ผสมกับหัวน้ำหอมชนิดอื่นเพื่อให้กลิ่นหอมติดทนนาน
นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาแก้ปวด
แก้อัมพาตและเป็นตัวยารักษาโรคมาเลเรีย
*** ชาวอาหรับและชาวปาร์ซี
(Parsee) นิยมนำไม้หอมมาเผาไฟเพื่ออบห้องให้มีกลิ่นหอม
ในยุโรปนิยมนำมาปรุงเป็นน้ำหอมชนิดคุณภาพดี
ผงไม้หอมใช้โรยบนเสื้อผ้าหรือบนร่างกายเพื่อฆ่าหมัดและเหา
ยาพื้นบ้านของอินเดียและอีกหลายประเทศในทวีปเอเชียใช้เป็นส่วนผสมในยาหอม
ยาบำรุง ยากระตุ้นหัวใจ และยาขับลม
ในแหลมมลายูใช้ไม้หอมเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและใช้บำบัดโรคผิวหนังหลายชนิด
สิ่งสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเปลือกต้นจากประเทศไทยมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง
เปลือกต้นให้เส้นใยใช้ทำเชือก ถุง ย่าม และกระดาษ
|