มะหาด
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Artocarpus lakoocha
Roxb.
วงศ์ :
MORACEAE
ชื่อสามัญ
: -
ชื่ออื่น : กาแย
ตาแป ตาแปง (มลายู-นราธิวาส) มะหาด (ภาคใต้)
มะหาดใบใหญ่ (ตรัง) หาด (ทั่วไป)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูงถึง 15 เมตร
ไม่ผลัดใบ เรือยอดเป็นพุ่มกลมทึบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม
ลำต้นเปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอนต่ำ เปลือกสีน้ำตาลปนดำ
แตกล่อนเป็นแผ่นเล็กๆ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ
ใบรูปขอบขนาน รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 5-20 ซม. ยาว
10-30 ซม. ปลายใบสอบแหลม โดคนใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย
ผิวใบด้านบนและล่างมีขนสาก แผ่นใบค่อนข้างหนา
ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ
9-17 เส้น ก้านใบยาว 1-3 ซม. ดอก สีเขียวอมเหลืองอ่อน
ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นฝังตัวอยู่บนฐานรองดอก
ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย
แยกช่อกันแต่อยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ
ช่อดอกรวมบานเต็มที่กว้าง 1-1.5 ซม. ผล
เป็นผลรวมรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยว ขนาด 5-10 ซม.
ประกอบด้วยผลย่อยรูปรีเชื่อมติดกันแน่น
ผิวผลมีลักษณะเป็นปุ่มหนาม ผลแก่จัดสีเหลือง
เมล็ดรูปรีมี 1 เมล็ดต่อผลย่อย 1 ผล
มะหาดกระจายพันธุ์อยู่ในป่าดิบและป่าเบญจพรรณชื้น
มีระยะการออกดอกประมาณเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน
ออกผลประมาณเดือน มีนาคม-พฤษภาคม
ประโยชน์
: เนื้อไม้ใช้ทำเสาเรือน
สะพาน ไม้พื้น ต่อเรือ เสากระโดงเรือ เครื่องแต่งบ้าน
และเครื่องดนตรี ในทางยา แก่นมะหาด เตรียมให้เป็นผงปวกหาด
ใช้สำหรับถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือน ได้ผลดี
เพราะมีสารที่มีคุณสมบัติขับพยาธิได้ คือ "2,4,3,5, -
Tetrahydroxystibene"
จากการศึกษาไม่พบความเป็นพิษ ขนาดที่ใช้คือ ผงปวกหาด 3
กรัม ละลายน้ำเย็นดื่มตอนเช้ามืด หลังจากนั้นประมาณ 2
ชั่วโมงให้กินยาถ่าย (ดีเกลือ)
นอกจากนี้ยังใช้ละลายน้ำทาแก้คัน "ปวกหาด"
เตรียมโดยการเคี่ยวเนื้อไม้กับน้ำ กรองเนื้อไม้ออก
บีบน้ำออกให้แห้ง จะได้ผงสีนวลจับกันเป็นก้อน
ย่างไฟจนเหลือง เรียกก้อนที่ได้ว่า ปวกหาด
|