ตองแตก
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Baliospermum solanifolium  (Burm.)Suresh
งศ์ :  EUPHORBIACEAE
ชื่อสามัญ :
ชื่ออื่น ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์) ถ่อนดี ทนดี (ภาคกลาง, ตรัง) โทะโคละ พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  นองป้อง ลองปอม (เลย)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร แตกแขนงจากโคนต้น ก้านใบเรียวยาว ยาว 2-6 ซม. ยอดอ่อนมีขน ใบ เดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน ใบที่อยู่ตามปลายยอดรูปใบหอกหรือรูปรี กว้างประมาณ 3.5 ซม. ยาวประมาณ 7 ซม. ใบที่ตามโคนต้นมักจักเป็นพู 3-5 พู รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือเกือบกลม กว้างประมาณ 7.5 ซม. ยาว 15-18 ซม. โคนสอบหรือมน มีต่อม 2 ต่อม ปลายแหลม ขอบหยักแบบฟันเลื่อยห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น และออกสองข้างของเส้นกลางใบ ข้างละ 5-8 เส้น เส้นใบด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน เนื้อบาง ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบนช่อเดียวกัน ช่อดอกเล็กเรียว ยาว 3.5-12 ซม. ดอกเพศผู้ มีจำนวนมาก อยู่ทางตอนบนของช่อ ดอกมีรูปร่างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มม. ก้านดอกย่อยเล็กเรียวคล้ายเส้นด้าย ยาว 3-5 มม. กลีบเลี้ยงมี 4-5 กลีบ รูปกลม ไม่มีกลีบดอก ฐานดอกมีต่อม 4-6 ต่อม เกสรเพศผู้มี 15-20 อัน อับเรณูคล้ายรูปถั่ว ดอกเพศเมียออกที่โคนช่อ กลีบเลี้ยงรูปไข่ปลายแหลม ขอบจัก ฐานดอกเป็นรูปถ้วยสั้นๆ รังไข่มี 3 พู ก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 แฉก ม้วนออก ผล เป็น 3 พู กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 0.8 ซม. ปลายบุ๋ม มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ 2 อัน โคนผลกลม มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลแก่แตกตามยาวที่กลางพู แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมล็ด รูปขอบขนาน
          ตองแตก ขึ้นในป่าดิบ ป่าไผ่ และตามที่รกร้างทั่วไป ถึงระดับความสูง 700 เมตร เขตกระจายพันธ์ ตั้งแต่อินเดีย (พบไม้ต้นแบบ) ปากีสถาน บังคลาเทศ ลงมาถึงพม่า อินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย
ประโยชน์
: น้ำต้มราก กินเป็นยาถ่าย แก้โรคดีซ่าน แก้บวมน้ำ เป็นยาร้อนที่มีกลิ่นฉุนแรงมาก ช่วยขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ม้ามอักเสบ และโรคลิตจาง ใบ ชงกินแก้หืดหอบ น้ำต้มใบกินเป็นยาระบาย เมล็ดมีน้ำมันเป็นพิษมาก ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง ในประเทศอินเดียใช้แทนน้ำมันจากสลอดเป็นยาถูนวดแก้ปวดตามข้อ





 

 

 

 
 
 
 
ภาพลายเส้นส่วนต่างๆของพืช