ตะโก
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Diospyros rhodocalyx    Kurz
วงศ์ :  EBENACEAE
ชื่อสามัญ : Ebony
ชื่ออื่น โก (ตะวันออกเฉียงเหนือ) นมงัว (นครราชสีมา) มะโก (ภาคเหนือ) มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 15 เมตร เปลือกแตกเป็นร่อง มีสะเก็ดหนา สีดำ เนื้อไม้สีขาว ใบ เดี่ยว รูปไข่กลับ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหรือป้อม  กว้าง 2-7 ซม. ยาว 3-12 ซม. ปลายใบทู่หรือโค้งมน โคนใบสอบแคบหรือมน ดอก ออกเป็นช่อ ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้ เป็นช่อเล็กๆ มีประมาณ 3 ดอก ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนปกคลุม กลีบดอก เชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ เกสรเพศผู้ 14-16 อัน ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวๆ ออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยง 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ มีขนนุ่ม เกสรเพศเมีย รังไข่ป้อม มีขนปกคลุม ภายในแบ่งเป็น 4 ช่อง ผล แบบผลสด มีเนื้อ หลายเมล็ด ทรงกลม ขนาด 1.5-2.5 ซม. ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงติดคงทน กางหรือแนบลู่ไปตามผิวผล เมล็ด มี 3-5 เมล็ด รูปไข่แบน สีน้ำตาลเข้ม มีเนื้อฉ่ำน้ำหุ้มอยู่
         ตะโกจะออกดอกและติดผลเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน  การกระจายพันธุ์ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ และทุ่งนาทั่วไป ที่ระดับความสูง 40-300 เมตร ต่างประเทศกระจายจากพม่า จนถึงภูมิภาคอินโดจีน
ประโยชน์
:  ผลสุกรับประทานได้ มีรสหวานอมฝาด ปลูกเป็นไม้ประดับ ทำไม้ดัด ทำด้ามอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลอ่อนทำสีย้อมแห อวน และผ้า